ภูมิทัศน์ด้านการทุจริตของประเทศไทย
จากผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริต ประจำปี 2565 ฉบับประเทศไทย 22% ขององค์กรไทยที่ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า พวกเขาประสบเหตุทุจริต คอร์รัปชัน หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ในช่วงเวลา 24 เดือนที่ผ่านมา
จากการสำรวจดังกล่าวยังพบว่า มีองค์กรไทยเพียง 37% ที่มีพนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรงด้านการจัดการความเสี่ยง และการกำกับดูแลในระดับองค์กร (เทียบกับ 43% ทั่วโลก) และน้อยกว่า 30% กล่าวว่า จะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรในด้านดังกล่าว (เทียบกับ 53% ทั่วโลก) เพื่อป้องกันภัยจากการทุจริต และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่า องค์กรไทยนั้นยังมีการจัดการดูแลเรื่องนี้ต่ำกว่าบริษัททั่วโลก
ทั้งนี้ ผลกระทบจากโควิด-19 ยังส่งผลให้องค์กรไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทุจริต 3 อันดับแรก ได้แก่ อาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต (24%) การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง (24%) และการยักยอกทรัพย์ (13%)
รูปแบบการทุจริตที่ส่งผลให้บริษัทไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการทุจริต 3 อันดับแรก
“ผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า บริษัทไทยยังคงมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามจากอาชญากรที่หันมาใช้วิธีการโจมตีใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนขึ้น และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเจาะระบบต่าง ๆ นอกจากนี้ บริษัทไทยหลายรายก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการลงทุนด้านการบริหารความเสี่ยงและการปฏิบัติตามที่ดีเพียงพอ ฉะนั้น การที่แนวโน้มการทุจริตทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เรากลับตรวจจับได้น้อยลง ทำให้บริษัทต้องหันมาพิจารณาถึงการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันธุรกิจของตนจากภัยคุกคามเหล่านี้”
พันธ์ศักดิ์ เสตเสถียร
หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาด้านความเสี่ยง
บริษัท PwC ประเทศไทย