กรุงเทพ, 2 กรกฎาคม 2564 – PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจพบผู้บริโภคชาวไทยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวิกฤตโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเกือบ 80% หันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พร้อมชี้นักลงทุน-ผู้จัดการกองทุนจะยิ่งหันมาใช้แนวคิด ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุนในอนาคต ทำให้บริษัทไทยต้องเร่งผนวกแนวคิด ESG เข้ากับกลยุทธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความไว้วางใจให้กับลูกค้า สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใส่ใจกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) มากกว่าเดิม โดยผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในฐานะพลเมืองที่ดีผ่านการสนับสนุนองค์กรและหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่บริโภคมากกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ จะผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องผนวกแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อตอบรับกับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่จะยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น” นาย ชาญชัย กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 8,681 คนใน 22 ประเทศและอาณาเขต รวมทั้งประเทศไทย พบว่า 76% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด (เปรียบเทียบกับการสำรวจในเดือนมีนาคมที่ 74%) ขณะที่ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น (เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77%)
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 79% ของผู้บริโภคไทยยังต้องการเลือกซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบหาต้นกำเนิดได้ (เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ 77%)
“วันนี้เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนไปสู่อะไรที่ eco-conscious มากขึ้น โดยคนยอมที่จะจ่ายมากขึ้น หากสินค้าและบริการที่ได้รับกลับมาจะมีคุณภาพ และช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมได้บ้าง ไม่เหมือนกับอดีตที่ราคาเป็นปัจจัยอันดับแรกในการเลือกซื้อ” นาย ชาญชัย กล่าว
จับตาการลงทุนอย่างยั่งยืน
นอกเหนือจากผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจกับสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว นาย ชาญชัย กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนอย่างยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับในประเทศไทย การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนสถาบันและผู้จัดการกองทุนที่นำผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นกลุ่มดัชนีความยั่งยืน (SETTHSI Index) ณ สิ้นเดือนพฤษภาคมปีนี้อยู่ที่ 11.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 9.8 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาดรวมของ SET ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 18.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ที่ 16.1 ล้านล้านบาท
“ต้องยอมรับว่า บริษัทไทยยังไม่ตื่นตัวกับการนำแนวคิด ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับในต่างประเทศ จะมีก็แต่บจ. ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้นที่สนใจในเรื่องนี้ และสามารถจัดทำรายงานความยั่งยืนได้ตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงยังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะกองทุนทั่วโลกที่จะยิ่งหันมาใช้แนวคิดนี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการในวงกว้างมากขึ้น” นาย ชาญชัย กล่าว
ทั้งนี้ รายงานข่าวอ้างอิงข้อมูลของ Morningstar ระบุว่า ในปี 2563 นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในกองทุน ESG มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเติบโตกว่าเท่าตัวเปรียบเทียบกับปี 2562
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีส่วนกระตุ้นให้หลายผู้นำประเทศและบริษัทชั้นนำทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่บริษัทไทยควรหันมาศึกษาและผนวกประเด็นด้าน ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ รวมทั้งจัดทำรายงานความยั่งยืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นักลงทุน และสังคมส่วนรวม” นาย ชาญชัย กล่าว
//จบ//
ข้อความถึงบรรณาธิการ
เกี่ยวกับผลสำรวจ
รายงานผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 8,681 คนใน 22 ประเทศและอาณาเขต ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน ฝรั่งเศส เยอรมนี เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สเปน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และไทย
ข้อมูลอ้างอิง
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 155 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 284,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 62 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย
PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2021 PwC. All rights reserved