กรุงเทพฯ, 5 เมษายน 2565 – PwC ประเทศไทย คาดปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการในประเทศไทยปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน แต่บริษัทต้องหาหนทางในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ โดยคาดว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะเป็นสองอุตสาหกรรมของไทยที่มีการซื้อขายและควบรวมกิจการมากที่สุดในปีนี้
นางสาว ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 เป็นปีที่มีปริมาณการซื้อขายกิจการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจและผู้คนเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และคาดว่า ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการในปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะผู้นำธุรกิจเริ่มมองเห็นแนวโน้มของโลกในระยะต่อไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงหันมาทบทวนกลยุทธ์และธุรกิจในพอร์ตฟอลิโอของตนเอง ขณะที่บางธุรกิจต้องการปรับโครงสร้างต้นทุน หรือแสวงหาธุรกิจอื่นที่ตนยังขาดเพื่อรักษาอัตราการเติบโต โดยกิจการที่มีการควบรวมกันมากที่สุดในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นั้นเป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและเทคโนโลยี
“เทรนด์ของการทำดีลส์ซื้อขายและควบรวมกิจการของไทยในปีนี้จะคล้ายคลึงกับทั่วโลก แม้กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นสูง และกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงสร้างการเงินสำหรับการบรรลุข้อตกลงในการทำดีลส์บ้าง แต่สภาวการณ์ดังกล่าว กลับจะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าสู่ตลาดใหม่ และแปลงไปสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืน” นางสาว ฉันทนุช กล่าว
แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับรายงาน Global M&A Industry Trends: 2022 Outlook ของ PwC ที่ทำการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดีลส์และทำการวิเคราะห์กิจกรรมดีลส์ทั่วโลก เพื่อประเมินถึงแนวโน้มปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการพบว่า ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยการซื้อขายและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ที่ประกาศออกมามีจำนวนกว่า 62,000 รายการในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 24% จากปี 2563 ขณะที่มูลค่าของการซื้อขายและควบรวมกิจการที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (รวมรายการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป) หรือเพิ่มขึ้น 57% จากปี 2563 และทำลายสถิติเดิมที่ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550
นางสาว ฉันทนุช กล่าวต่อว่า สถานการณ์การควบรวมกิจการทั่วโลกนั้นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มนักลงทุนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทางการเงิน เช่น กองทุนไพรเวทอิควิตี้ หรือนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Corporates หรือ strategic investors) และการที่นักลงทุนมีเงินทุนที่ระดมมาผ่านทางตลาดทุน และจากบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisition Company: SPAC) ในสหรัฐฯ พร้อมใช้เพื่อสร้างการเติบโตมากกว่าปีก่อน ๆ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ราคาซื้อขายกิจการจะสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อนักลงทุนซื้อกิจการมาในราคาที่สูงรวมกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นควบคู่กัน จึงเกิดเป็นความกดดันที่นักลงทุนต้องสร้างมูลค่ากิจการให้เกิดผลกำไรที่สูงกว่าที่เคยทำมาในอดีต
แนวโน้ม M&A ในอุตสาหกรรมหลักทั่วโลกในปี 65
ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงแนวโน้มการควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลัก ดังต่อไปนี้
“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล น่าจะเป็นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ทุกอุตสาหกรรมต้องกลับมาทบทวนพอร์ตโฟลิโอในปีนี้ แม้การทำ M&A จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การทบทวนธุรกิจเดิมและความสามารถในการทำกำไรก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อกลับมาทบทวนจะช่วยให้เห็นภาพว่า ธุรกิจในปัจจุบันของเรานั้น ยังมีศักยภาพในการเติบโตท่ามกลางแนวโน้มโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ทำให้ช่วงผ่านมาเราจะเห็นหลาย ๆ บริษัทตัดขายธุรกิจที่ผลการดำเนินงานไม่ดี หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักขององค์กร และอีกหลายรายพยายามรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการซื้อกิจการใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการที่สำคัญ ไม่แพ้การเติบโตของรายได้และการลดต้นทุน นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ยังส่งผลโดยตรงกับการบริหารซัพพลายเชนทั่วโลก การเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการวัตถุดิบ แรงงาน การขนส่ง อาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการมีแหล่งวัตถุดิบในประเทศ หรือในละแวกใกล้เคียง หรือ Nearshore มากขึ้น ผ่านการซื้อขายกิจการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อาจมีการหยุดชะงัก หรือล่าช้าในการปิดการซื้อขายกิจการ” นางสาว ฉันทนุช กล่าว
//จบ//
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 156 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 295,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 63 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย
PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2022 PwC. All rights reserved