Press release

PwC และ NUS เผยผลการศึกษาการจัดทำรายงานความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ช่องว่างที่สำคัญยังคงอยู่

PwC และ NUS เผยผลการศึกษาการจัดทำรายงานความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ช่องว่างที่สำคัญยังคงอยู่
  • Press Release
  • 5 minute read
  • 07 Aug 2023


PwC และ NUS เผยผลการศึกษาการจัดทำรายงานความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
มีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่ช่องว่างที่สำคัญยังคงอยู่ 
 

  • การเปิดเผยโดยรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและ/หรือโอกาสที่ถูกระบุในรายงานความยั่งยืนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 77% ในปี 2564 เป็น 88% ในปี 2565
  • บริษัทในเขตอำนาจการปกครองส่วนใหญ่มีการกำหนดเป้าหมายด้าน ESG (92%) แต่มีเพียง 51% เท่านั้น ที่เปิดเผยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และมีเพียง 42% ที่มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามกรอบโครงการริเริ่มกำหนดเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative: SBTi) มีเพียง 16% เท่านั้นที่รายงานว่าเป้าหมายของพวกเขาได้รับการรับรองโดย SBTi
  • 80% ของบริษัทกำลังเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) ซึ่งการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ Scope 1 และ 2 มีการพัฒนามาถึงจุดสูงสุด นอกจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว บริษัทส่วนใหญ่ทั่วทั้งภูมิภาคยังคงต้องมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ (Scope 3) ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น
  • มีบริษัทเพียง 36% เท่านั้นที่รายงานว่าคณะกรรมการ หรือทีมผู้บริหารของพวกเขาได้รับการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนในปี 2565 (เปรียบเทียบกับ 24% ในปี 2564)
  • บริษัทที่ได้รับการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล ESG จากภายนอกเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2564 เป็น 49% ในปี 2565 แต่การปรับปรุงสามารถทำได้ทั่วทั้งภูมิภาค ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

กรุงเทพฯ, 7 สิงหาคม 2566 – ในขณะที่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเชื่อมต่อคุณค่าทางธุรกิจเข้ากับความสามารถในการสำรวจความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังแสดงความคืบหน้าในการจัดทำรายงานความยั่งยืนในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ตามรายงาน Sustainability counts II: Sustainability reporting in Asia Pacific ซึ่งเป็นการศึกษาของ PwC ประเทศสิงคโปร์ และศูนย์ธรรมาภิบาลและความยั่งยืน (The Centre for Governance and Sustainability: CGS) คณะวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore (NUS) Business School) ทั้งนี้ การวิเคราะห์รายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน 50 อันดับแรกตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดครอบคลุม 14 ประเทศและอาณาเขตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก[1] ซึ่งผลการศึกษานี้ที่ได้ถูกเผยแพร่ ณ งาน Ecosperity Week 2023 ยังเผยให้เห็นถึงช่องว่างของการจัดทำรายงานและการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ยังคงมีอยู่สำหรับธุรกิจเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีเส้นทางที่แข็งแกร่งและปฏิบัติได้จริงของการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรือช่วงกลางศตวรรษ และเน้นให้เห็นถึงความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งธุรกิจต่าง ๆ จะต้องเผชิญ

ศาสตราจารย์ ลอว์เรนซ์ โลห์ ผู้อำนวยการ CGS คณะวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า “การศึกษาเน้นทั้งความคืบหน้าและช่องว่างในการจัดทำรายงานความยั่งยืนขององค์กรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งแม้ว่าเราจะเห็นการเพิ่มขึ้นของการเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่สำคัญ คือ จะต้องระแวดระวังเกี่ยวกับช่องว่างที่สำคัญ ๆ เช่น เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ความโปร่งใสในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการฝึกอบรมด้านความยั่งยืน ในขณะที่ความคาดหวังด้าน ESG เพิ่มขึ้น บริษัทต่าง ๆ จะต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขช่องว่างเหล่านี้ และมีความมุ่งมั่นในการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่เป็นสถานประกอบการที่เป็นแบบอย่างในฐานะองค์กรสีเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างมีความรับผิดชอบและมีความยืดหยุ่น”

การเปิดเผยความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศมีความคืบหน้ามากขึ้น

ผลการศึกษาพบว่า การเปิดเผยถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและ/หรือโอกาสที่ระบุในรายงานความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจาก 77% ในปี 2564 เป็น 88% ในปี 2565 สอดคล้องกับการเปิดเผยถึงกระบวนการในการจัดการความเสี่ยงและ/หรือโอกาสเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นจาก 66% (2564) เป็น 74% (2565) และวิธีที่พวกเขาผนวกความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการความเสี่ยงโดยรวม เพิ่มขึ้นจาก 36% ในปี 2564 เป็น 58% ในปี 2565 สำหรับ 13 เขตอำนาจการปกครองส่วนใหญ่ ยกเว้นประเทศเกาหลีใต้ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเปิดเผยข้อมูลนั้น เป็นผลมาจากการนำกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosures: TCFD) มาปรับใช้เพิ่มขึ้น ซึ่งการเปิดเผยถึงการผนวกความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการความเสี่ยงโดยรวม ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการรายงาน ในขณะเดียวกัน ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจของตนมากขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลที่เปลี่ยนไป

การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ยังคงเป็นความท้าทาย

บริษัทมากกว่าเก้าในสิบแห่ง (92%) ที่ทำการศึกษา มีการเปิดเผยเป้าหมายด้านความยั่งยืนในปี 2565 อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้ มีเพียง 51% เท่านั้น ที่เปิดเผยเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ขณะที่ 42% รายงานว่า เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของตนยึดตามกรอบโครงการริเริ่มกำหนดเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative: SBTi) โดยมีเพียง 16% ที่รายงานว่า เป้าหมายของพวกเขาได้รับการรับรองโดย SBTi ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทต่าง ๆ ในการแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีเส้นทางที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อพิจารณาถึงประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระหว่างปี 2593 ถึง 2613 ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเป้าหมายและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับวาระความยั่งยืนแห่งชาติ

ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า การประเมิน Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากบริษัท) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อและใช้พลังงาน) นั้นมีการพัฒนามาถึงจุดสูงสุดแล้ว โดย 80% ของบริษัทที่ทำการศึกษา มีการเปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 อย่างไรก็ดี ยังคงมีบริษัทน้อยกว่า 50% ที่มีการเปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่าของบริษัท) และในบรรดาบริษัทที่เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 มีเพียง 5% เท่านั้นที่รายงานว่า มีการเปิดเผยข้อมูลในระดับที่ครอบคลุม ซึ่งจำเป็นต่อการความเข้าใจภาพรวมของการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัท และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าอย่างมีประสิทธิภาพ

การยกระดับทักษะด้านความยั่งยืนสำหรับคณะกรรมการและทีมบริหารยังอยู่ในระดับต่ำ

36% ของบริษัทที่ทำการศึกษารายงานว่า คณะกรรมการหรือทีมบริหารของพวกเขาได้เข้าร่วมหรือได้รับการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2564 แต่แม้ว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น อัตราดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับทักษะด้านความยั่งยืนในระดับผู้นำ เพื่อให้พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ความก้าวหน้า และการกำกับดูแลของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์ของการรับรองรายงานความยั่งยืน

สำหรับการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของบริษัทแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจของพวกเขานั้น ผลการศึกษาพบว่า มีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่ได้รับการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูล ESG ของพวกเขาจากหน่วยงานอิสระภายนอก โดยเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2564 เป็น 49% ในปี 2565 และเมื่อพิจารณาถึงสามในสี่ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจในรายงาน Global Investor Survey ของ PwC เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ระบุว่า พวกเขาจะมีความมั่นใจในการจัดทำรายงานความยั่งยืนมากขึ้น หากรายงานความยั่งยืนได้รับการตรวจสอบในระดับเดียวกับงบการเงินของบริษัท โดยธุรกิจต่าง ๆ จะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงขึ้นเกี่ยวกับการจัดทำรายงานความยั่งยืนผ่านการได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอก

หนทางข้างหน้าของการจัดทำรายงานความยั่งยืน

รายงานยังได้เน้นถึงความท้าทายอันดับต้น ๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญเกี่ยวกับการจัดทำรายงานความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนามาตรฐานและกรอบการรายงานความยั่งยืนที่สำคัญ ๆ ซึ่งผู้จัดทำรายงานความยั่งยืนจำเป็นที่จะต้องติดตาม

นางสาว ฟาง ยู ลิน หัวหน้ากลุ่มลูกค้าความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ PwC ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า “ความท้าทายที่ธุรกิจกำลังเผชิญเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของมาตรฐานในการรายงานความยั่งยืนที่สำคัญ ๆ ทั่วทุกภาคส่วน จะทำให้หลายบริษัทต้องพัฒนาแผนงานเชิงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน จะต้องให้ความสำคัญกับการรับรองความเชื่อมั่นของการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”

ด้านนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเห็นว่าบริษัทใน SET25 มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนกันแทบทั้งสิ้น ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนใน SET50 และ SET100 ก็มีแนวโน้มในการจัดทำเพิ่มขึ้นเช่นกันเป็นผลมาจากการตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลก สังคม และองค์กร อย่างไรก็ดี ในปี 2566 พบว่า มีบริษัทไทยเพียงหกแห่งเท่านั้นที่ได้การรับรองโดย SBTi และมี 27 แห่งที่มีการเปิดเผยถึงความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานของ TCFD”

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทจดทะเบียนของไทยตื่นตัวในเรื่องการจัดทำรายงานความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลในรายงานความยั่งยืนจากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระจะยังคงมีน้อยมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการจัดทำรายงานยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง โดยคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยห้าปีนับจากนี้ถึงจะเห็นบริษัทจดทะเบียนมีการตรวจสอบการรายงานความยั่งยืนกันอย่างแพร่หลาย” นาย ชาญชัย กล่าว

นาย ชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้บริหารบริษัทไทยควรเร่งตระหนักและทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดทำกลยุทธ์และแผนการลดคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า ‘Net Zero Company’ เพราะมีมาตรการที่บริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปต้องปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) หรือ มาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ภายในปี 2573 ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทยในห้าธุรกิจหลัก ได้แก่ บริการไฟฟ้า ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ดังนั้น บริษัทที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้และมีการส่งสินค้าไปยุโรปจึงต้องเร่งปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจก่อนที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566[2] นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็ให้ความสำคัญในการออกมาตรการและนโยบายด้าน climate change ด้วยเช่นกัน

//จบ//


[1] ออสเตรเลีย, จีน (แผ่นดินใหญ่), ฮ่องกง, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ไทย, เวียดนาม
[2]  Carbon Border Adjustment Mechanism, Taxation and Customs Union, European Commission 

ข้อความถึงบรรณาธิการ

  1. ผลการศึกษานี้ครอบคลุมบริษัทจดทะเบียน 50 อันดับแรก ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ได้ทำการคัดเลือกจาก 14 ประเทศและอาณาเขตทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยมีการศึกษาบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 700 แห่ง ครอบคลุม 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ บริการสื่อสาร การตัดสินใจของผู้บริโภค วัตถุดิบสำหรับผู้บริโภค พลังงาน การเงิน การดูแลสุขภาพ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุ อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ซึ่งบริษัทที่ถูกระบุว่า เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ ตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย ตลาดหลักทรัพย์ฮานอย ตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ตลาดหลักทรัพย์เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย ตลาดหลักทรัพย์เกาหลี ตลาดหลักทรัพย์นิวซีแลนด์ ตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน และตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
  2. ข้อมูลของผลการศึกษานี้ ถูกอ้างอิงจากรายงานความยั่งยืนล่าสุดและรายงานประจำปีที่ถูกเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2566 โดยบริษัทที่มีการจัดพิมพ์รายงานความยั่งยืนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นที่ถูกนำมารวบรวมไว้


เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 152 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานเกือบ 328,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com


เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย

PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 64 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure  for further details.

© 2023 PwC. All rights reserved.

Click here to read English version

Contact us

Ploy Ten Kate

Ploy Ten Kate

Director, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000 Ext. 4713

Follow us