Press Release

PwC ประเทศไทย เผยโซลูชัน BaaS จิ๊กซอว์สำคัญพลิกโฉมระบบนิเวศทางการเงินของไทย

  • Press Release
  • 5 minute read
  • 10 Oct 2024

PwC ประเทศไทย เผยโซลูชัน BaaS จิ๊กซอว์สำคัญพลิกโฉมระบบนิเวศทางการเงินของไทย

กรุงเทพฯ, 10 ตุลาคม 2567 – PwC ประเทศไทย เผยโซลูชันการธนาคารในรูปแบบบริการ หรือ BaaS จะเป็นส่วนสำคัญในการพลิกโฉมระบบนิเวศทางการเงินของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินดิจิทัลที่แข่งขันได้ในเวทีโลก โดยช่วยเปลี่ยนรูปแบบบริการชำระเงินและสร้างโซลูชันใหม่ ๆ ที่มีต้นทุนต่ำเพิ่มมากขึ้นทั้งบริการการเงินแบบฝังตัว ธุรกิจป้ายขาว และธนาคารระบบสมัครสมาชิก พร้อมระบุความท้าทายสำหรับการประยุกต์ใช้ BaaS ที่ผู้ประกอบการไทยควรต้องคำนึงถึง

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้ากลุ่มลูกค้าธุรกิจบริการทางการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และหัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า โซลูชันการธนาคารในรูปแบบบริการ (Banking as a Service: BaaS) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางการเงินของประเทศโดยช่วยให้ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธนาคารและสถาบันการเงิน บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ สตาร์ทอัพฟินเทค และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างและนำไปสู่บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ฝังตัวอยู่ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นผ่านการผสมผสานระหว่างการธนาคารแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีที่ช่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการทางการเงินและก่อให้เกิดโซลูชันทางการเงินใหม่ ๆ ที่มีต้นทุนต่ำลง

“โซลูชัน BaaS ได้เปลี่ยนการแข่งขันในตลาดบริการทางการเงินของไทยไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเราเห็นการขยายตัวของการใช้โซลูชัน BaaS แทบจะทุกประเภท นำโดยธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ BaaS เข้ามาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้าและนำเสนอบริการเฉพาะบุคคลได้ตรงจุดมากขึ้น ทำให้เกิดความสะดวกในการรับบริการทางการเงิน เช่น ธนาคารเชื่อมต่อกับบริษัทแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อปล่อยกู้หรือให้บริการประกันภัยจากการสั่งซื้อที่มีมูลค่าสูง”

นางสาว วิไลพร กล่าว

นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่า BaaS ยังเป็นรูปแบบธุรกิจที่สามารถก่อให้เกิดรูปแบบบริการทางการเงินใหม่ ๆ ด้วยการนำธุรกิจบางส่วนของธนาคารออกมาให้บริการเป็น ‘as a Service’1 เช่น การให้กู้ยืมในรูปแบบบริการ Lending as a Service (LaaS) ที่ดำเนินการผ่านแพลตฟอร์มบนคลาวด์ ช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงการดำเนินการให้กู้ยืมและเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งมอบบริการสำหรับหน่วยงานภายในองค์กร (back office) และหน่วยงานที่ควบคุมการปฏิบัติงาน (middle office) เช่น การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับในรูปแบบบริการ Compliance as a Service และการต่อต้านการฟอกเงินในรูปแบบบริการ AML as a Service นอกจากนี้ ยังทำให้บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) สามารถเชื่อมต่อกับธนาคารผ่าน API (Application Programming Interface)2 เพื่อใช้บริการต่าง ๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของระบบนิเวศทางการเงินของประเทศ เนื่องจากช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการเงินดิจิทัลที่แข่งขันได้ในระดับโลก

ทั้งนี้ นางสาว วิไลพร ยังกล่าวว่า รูปแบบบริการทางการเงินใหม่ ๆ สำหรับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมที่สามารถเกิดขึ้นได้จากโซลูชัน BaaS มีดังต่อไปนี้

  1. บริการทางการเงินแบบฝังตัว (embedded finance) คือ การฝังบริการทางการเงินในระบบนิเวศอื่น ๆ ซึ่งธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ไปที่ลูกค้าได้โดยตรงในแบบ Product as a Feature ซึ่งรูปแบบนี้มีการใช้งานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในซูเปอร์แอป เช่น การฝังบริการเงินกู้ บริการจ่ายก่อนผ่อนทีหลัง หรือบริการประกันผ่านแอปต่าง ๆ
  2. ธุรกิจป้ายขาว (white-label solution) คือ บริการที่ผลิตโดยองค์กรหนึ่ง แต่องค์กรอื่นสามารถขายภายใต้แบรนด์ของตนเองได้ เช่น ในกรณีของสถาบันการเงิน ธนาคารสามารถเสนอบริการแบบ white label ให้แก่บริษัทฟินเทคและธุรกิจอื่น ๆ ถือเป็นการสร้างรายได้ผ่านค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของธนาคาร ซึ่งก็จะช่วยให้บริษัทที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถนำเสนอบริการทางธนาคารได้โดยไม่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเอง เช่น บริการ ATM ที่ไม่ได้ระบุว่าเป็นของธนาคารไหน (white-label ATM) แต่สามารถรับบัตรได้ทุกประเภทและทุกธนาคาร ทำให้ธนาคารมีต้นทุนลดลง เป็นต้น
  3. ระบบสมัครสมาชิก (subscription model) ธนาคารสามารถนำรูปแบบการสมัครสมาชิกมาใช้สำหรับบริการทางการเงินแบบเฉพาะเจาะจงขั้นสูงระดับพรีเมี่ยม เช่น การวิเคราะห์ทางการเงินขั้นสูง และการวางแผนทางการเงิน ยกตัวอย่าง เช่น Monzo ธนาคารไร้สาขาของประเทศสหราชอาณาจักรที่ได้นำเสนอบริการระบบสมาชิกสามระดับโดยแต่ละระดับครอบคลุมบริการและค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ BaaS ยังช่วยให้ธนาคารสามารถนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้นผ่านการขับเคลื่อนด้วย API อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ จากการเป็นพันธมิตรกับบริษัทฟินเทคและผู้ให้บริการบุคคลภายนอกรายอื่น ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (underserved) โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง

“BaaS จะช่วยให้ธนาคารขยายธุรกรรมและบริการทางการเงินระหว่างประเทศได้มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับผู้ให้บริการ BaaS ในประเทศเป้าหมาย จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับแบงก์ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดใหม่ และยังเป็นโซลูชันที่ส่งเสริมให้ระบบนิเวศทางการเงินโลกเชื่อมต่อถึงกันได้มากขึ้น”

เธอ กล่าว

ความท้าทายของการประยุกต์ใช้ BaaS

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า แม้ BaaS จะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับธนาคารแบบดั้งเดิมและบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน แต่สำหรับประเทศไทยยังมีประเด็นความท้าทายสี่ประการในการนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ ดังต่อไปนี้  

  1. การปฏิบัติตามกฎระเบียบและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตามกฎระเบียบที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งต้องทำให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019): PDPA) อย่างครบถ้วนเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค  
  2. การรักษาความปลอดภัยและการจัดการ API ที่ต้องมีความรัดกุม เนื่องจาก API มักถูกใช้เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่องค์กรมีอยู่รวมถึงข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน ด้วยเหตุนี้ การวางแผนความปลอดภัยของ API จะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยให้ลูกค้ามั่นใจว่าได้รับการปกป้องข้อมูลทางการเงินจากการถูกละเมิด
  3. การเชื่อมต่อกับระบบที่ล้าสมัย (legacy system) ยังคงมีความยุ่งยาก การรวมแพลตฟอร์ม BaaS เข้ากับระบบเดิมที่มีอยู่เพื่อทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นระหว่างระบบงานภายในและบุคคลภายนอกเป็นเรื่องที่ซับซ้อนทางเทคนิคและต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการจัดการ

การเลือกผู้ให้บริการ BaaS ที่เชื่อถือได้ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบสถานะ (due diligence) อย่างละเอียด และการพึ่งพาผู้ให้บริการบุคคลภายนอกอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความต่อเนื่อง ความปลอดภัย และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของการให้บริการ

“ผู้นำธุรกิจควรเลือกผู้ให้บริการ BaaS ที่มีการเก็บข้อมูลที่ดี มีมาตรการรักษาความปลอดภัย และได้รับการรับรองด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดสากล นอกจากนี้ ควรติดตั้ง API และใช้กลไกการตรวจสอบยืนยันสิทธิและการอนุญาตที่มีประสิทธิภาพ สุดท้าย ต้องมีการควบคุมการเข้าถึงที่เข้มงวด และทดสอบการเจาะเข้าระบบอยู่เป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตี และยังเป็นการยกระดับความไว้วางใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงินดิจิทัลอีกทางหนึ่งด้วย”

นางสาว วิไลพร กล่าว

//จบ//

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Tech Translated: Banking as a Service (BaaS), s+b a PwC publication  
  2. Make Monzo more you: brand new ways to upgrade your account, Monzo

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 151 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 360,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย

PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 65 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย

PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2024 PwC. All rights reserved.

Click here to read English version

Contact us

Ploy Ten Kate

Ploy Ten Kate

Director, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000 Ext. 4713

Follow us