Press Release

PwC ชี้ธุรกิจไทยน้อยกว่าครึ่งให้อำนาจฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

  • Press Release
  • 8 minute read
  • 11 Apr 2025

กรุงเทพฯ, 11 เมษายน 2568 – PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุดพบ องค์กรไทยยังละเลยในการให้ความสำคัญกับฝ่ายงานปฏิบัติตามกฎระเบียบของตน โดยน้อยกว่าครึ่งขาดอำนาจในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ขณะที่ผู้บริหารจำนวนมากไม่มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการตีความข้อบังคับ แนะธุรกิจไทยวางกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชัดเจน มีผู้นำด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม และลงทุนเทคโนโลยี เพื่อเอาชนะการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่จะยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น

นางสาว สินสิริ ทังสมบัติ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง “รายงานผลสำรวจการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั่วโลกประจำปี 2568 ฉบับประเทศไทย: ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การปฏิบัติตามกฎระเบียบ” ว่า องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance function) ของตนไม่เพียงพอ โดยมีเพียง 42% ของผู้นำฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของไทยเท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เปรียบเทียบกับผู้นำฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 51%

“การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกฎระเบียบข้อบังคับ ระบบนิเวศอุตสาหกรรม และความเสี่ยงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค อีกทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำให้การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผู้บริหารจึงควรต้องผลักดันให้ฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของตนเป็นศูนย์กลางของการสร้างโมเดลการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งการให้อำนาจในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้บริษัทสามารถมองเห็น ยอมรับ และจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และยังช่วยปกป้องและสร้างมูลค่าให้กับองค์กรในระยะยาว”

นางสาว สินสิริ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานฉบับประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของ “รายงานผลสำรวจการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั่วโลกประจำปี 2568” ที่ PwC ได้สำรวจผู้บริหารจำนวนทั้งสิ้น 1,802 ราย ซึ่งรวมถึงผู้บริหารจากประเทศไทยจำนวน 36 รายในช่วงระหว่างเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2567

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า 61% วางแผนที่จะให้ฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของตนมีส่วนร่วมในนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (business model innovation) ขณะที่ 58% ต้องการให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

เพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีการตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการตีความข้อบังคับ

นางสาว สินสิริ กล่าวต่อว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของธุรกิจในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังคงตามหลังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยรายงานระบุว่า 72% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ใช้เทคโนโลยีในการฝึกอบรมด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (เทียบกับ 81% ในเอเชียแปซิฟิก) ขณะที่ 62% ใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูลตามข้อบังคับ (เทียบกับ 71% ในเอเชียแปซิฟิก) และ 57% ใช้เทคโนโลยีในการติดตามประเด็นปัญหา (เทียบกับ 66% ในเอเชียแปซิฟิก) ตามลำดับ

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานระบุว่า 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกล่าวว่า ตนไม่มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ขณะที่ 35% กล่าวว่า ไม่มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการระบุและตีความข้อบังคับต่าง ๆ โดยนางสาว สินสิริ กล่าวเสริมว่า สาเหตุหลักอาจเนื่องมาจากหน่วยงานการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทยยังคงพึ่งพาดุลยพินิจของบุคลากรในการตรวจสอบและการระบุข้อกฎหมายและการตีความเป็นหลัก

“ความลังเลในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงานด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบของธุรกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับในระดับภูมิภาคจะส่งผลต่อความสามารถของประเทศในการจัดการกับความท้าทายด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริษัทต้องการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ”

นางสาว สินสิริ กล่าว

เมื่อพิจารณาถึงวัฒนธรรมองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance culture) ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 44% กล่าวว่า วัฒนธรรมด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรของพวกเขาอยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวให้แข็งแกร่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง (75%) การฝึกอบรมและการสื่อสารกับพนักงาน (53%) และการเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบาย ขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชัดเจน (33%)

“เหนือสิ่งอื่นใด การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่ใช่เรื่องของการทำตามกฎเท่านั้น แต่เป็นการตระหนักถึงการทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเป็นปกติโดยต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและมีวัฒนธรรมในการส่งเสริมการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและฝังอยู่ในการดำเนินงาน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงการมีกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชัดเจน มีการแต่งตั้งผู้นำด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและให้อำนาจทีมงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นซึ่งทั้งหมดจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นางสาว สินสิริ กล่าว

//จบ//

เกี่ยวกับรายงานผลสำรวจ

PwC ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความท้าทาย และการพัฒนาการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยรายงานของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลสำรวจการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั่วโลกประจำปี 2568 ได้สำรวจผู้บริหารจำนวนทั้งสิ้น 1,802 ราย ซึ่งรวมผู้บริหารจากประเทศไทยจำนวน 36 รายในช่วงระหว่างเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2567

คุณสามารถอ่านรายงานฉบับประเทศไทยได้ที่ เว็บไซต์ของเรา

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 149 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 370,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย

PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 65 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 1,800 คนในประเทศไทย

PwC refers to the Thailand member firm, and may sometimes refer to the PwC network. Each member firm is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2025 PwC. All rights reserved

Click here to read English version

Contact us

Ploy Ten Kate

Ploy Ten Kate

Director, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000 Ext. 4713

Follow us