คุณทราบหรือไม่ว่าประชากร 2 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรทั่วโลกในปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ในขณะที่ 21% ของประชาชนคนไทยก็ไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินได้เช่นกัน
นี่คือ ช่องโหว่ที่บรรดาฟินเทคสตาร์ทอัพเห็นเป็นโอกาสและออกแบบนวัตกรรมทางการเงินออกมาหลากหลายประเภทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการชำระเงิน (Payment Service) การบริหารเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) และ การลงทุนเพื่อรายย่อย (Retail Investment) เพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น แต่ยังมีอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่ฟินเทคสตาร์ทอัพกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ แถมในเมืองไทยยังไม่เคยเปิดให้บริการอย่างจริงจังมาก่อน นั่นคือ การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ Peer-to-Peer (P2P) lending
P2P lending มีคอนเซ็ปต์ง่ายๆ คือ การกู้ยืมเงินระหว่างกันโดยตัดตัวกลางอย่างธนาคารออกไป เดิมทีถ้าเราไม่กู้เงินจากแบงก์ หรือกู้ไม่ผ่าน เราอาจจะยืมเงินเพื่อน คนในครอบครัว หรือเงินกู้นอกระบบ แต่ P2P lending จะช่วยให้การเข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะระบบจะทำหน้าที่คล้ายๆ “แมทช์เมคเกอร์” เชื่อมคนที่มีเงินเหลือใช้ กับคนที่ต้องการเงินกู้เข้าหากัน และให้คน 2 กลุ่มนี้กู้ยืมเงินกันเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยฟินเทคสตาร์ทอัพ
ฟังดูแล้วคอนเซ็ปต์นี้จะคล้ายๆ กับการระดมทุนจากมวลชนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Crowdfunding เพราะ P2P lending นั้นถือเป็น Crowdfunding รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Lending-based เป็นรูปแบบการกู้ยืมเงินจำนวนมากจากคนทั่วไปโดยแบ่งรูปแบบของรายได้ของนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ออกเป็น 2 แบบคือ รายได้จากการมีส่วนร่วม (Revenue participation) โดยอาจจะเป็นส่วนแบ่งกำไรจากการขายและอีกแบบคือ รายได้จากดอกเบี้ย (Revenue interest)
สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานของ P2P lending นั้นมี 6 ขั้นตอนหลัก เริ่มตั้งแต่การยื่นใบคำขอกู้ยืมเงิน ตอบรับคำขอ ตรวจสอบเครดิต พิจารณาอนุมัติ ส่งมอบเงิน และบริหารจัดการเงินกู้ โดยฟินเทคสตาร์ทอัพจะสร้างอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม เช่น แอพพลิเคชัน และ เว็บไซต์เพื่อเชื่อมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนบนแพลตฟอร์มเสียก่อน สำหรับผู้กู้ต้องกรอกรายละเอียดจำนวนเงินที่ต้องการกู้ รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน และระยะเวลาในการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้น ระบบจะทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ เครดิตของผู้กู้ และความสามารถในการชำระหนี้จากข้อมูลที่ให้มาตอนลงทะเบียน ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาสั้นกว่าธนาคาร อย่างในยุโรปใช้เวลาในการสืบและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณา
สำหรับกระบวนการพิจารณาคำขอและอนุมัติสินเชื่อนั้นจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ใช้เวลามากกว่านั้นมากส่วนขั้นตอนการทำสัญญาและโอนเงินจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้ รวมถึงการทำสัญญาและติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้งสองฝ่ายจะใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย
ด้วยรูปแบบที่ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ P2P lending จะดึงดูดกลุ่มคนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร เพราะเครดิตหรือหลักประกันไม่ผ่านเงื่อนไขของแบงก์ นอกจากนี้ ในมุมของนักลงทุน P2P lending ยังให้ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงกว่าเงินฝาก โดยข้อมูลล่าสุดจากผู้ให้บริการ P2P lending รายใหญ่ของสหรัฐฯระบุว่า อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของผู้ปล่อยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 5.2-8.2% ตามแต่เกรดของสินเชื่อ ในส่วนฟินเทคสตาร์ทอัพเองก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียมดอกเบี้ยเงินกู้
ภายใต้คอนเซ็ปต์ง่ายๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มคนที่ต้องการเงินและกลุ่มที่ต้องการให้เงินงอกเงยนี่เอง ทำให้ P2P lending เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเปิดตัวครั้งแรกในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2549 โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 มูลค่าตลาด P2P ทั่วโลกจะสูงถึงกว่า 35.9 ล้านล้านบาท ขณะที่จีนครองความเป็นเจ้าตลาด P2P ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ ณ เวลานี้ เพราะช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า อีกทั้งการขยายตัวของการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน ยิ่งทำให้การกู้ยืมออนไลน์ได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมรวมถึงประชาชนทั่วไป และยังทำให้คนจีนส่วนใหญ่หันมาใช้แพลตฟอร์ม P2P lending โดยปัจจุบันมีกว่า 1,500 แพลตฟอร์ม และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 289% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
จากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกจำนวนมากออกมาแสดงความกังวลต่อการเข้ามาของฟินเทคประเภทนี้ โดยผลสำรวจ Blurred lines: How FinTech is shaping financial services ของ PwC พบว่า 76% ของนายธนาคารทั่วโลกมองว่า P2P จะเข้ามามี
ผลกระทบต่อวงการธุรกิจธนาคารเป็นอย่างมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหากแบงก์ไม่เริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ จะเกิดความเสี่ยงในการเสียฐานลูกค้าให้กับฟินเทค เพราะนอกจาก P2P lending จะอยู่ในรูปแบบของสินเชื่อบุคคลแล้ว ปัจจุบันสตาร์ทอัพยังเริ่มโฟกัสไปที่การกู้เงินแบบเฉพาะเจาะจงอื่นๆ เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และเพื่อธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อขยายฐานลูกค้าของตนอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย จำนวนฟินเทคสตาร์ทอัพในธุรกิจ P2P lending ยังมีน้อยราย แตกต่างจากจีน สหรัฐฯ และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรปหรือแม้กระทั่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ก็มีแพลตฟอร์ม P2P จำนวนมาก แต่ใช่ว่าตลาดไทยจะไม่มีโอกาสในการเติบโต ด้วยความที่คนไทยนิยมทำธุรกรรมออนไลน์ ขณะที่เกือบ 1 ใน 4 ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ นี่จึงเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพไทยในการดึงคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการเงินออนไลน์
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ท้าทายสำหรับ P2P lending ของไทยในระยะต่อไปน่าจะอยู่ที่การปรับและพัฒนามาตรการกำกับดูแลสตาร์ทอัพฟินเทคที่ประกอบธุรกิจนี้ เพราะหน่วยงานกำกับต้องควบคุมทั้งคุณภาพสินเชื่อ ความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งฝั่งผู้ให้กู้และผู้กู้ รวมไปถึงตัวผู้ประกอบการเอง เพราะในต่างประเทศมีกรณีให้เห็นเป็นตัวอย่างก็มาก ทั้งการทุจริตจากคนใน หรือแม้กระทั่งการปล่อยกู้ให้แก่อาชญากร หรือกลายเป็นแหล่งฟอกเงินของมิจฉาชีพ ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้นิ่งเฉย โดยกำลังปรับปรุงกฎเกณฑ์เรื่องช่องทางการให้บริการ (Distribution channel) และทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในประเด็นของการทำธุรกิจและมาตรการการกำกับดูแล P2P ในไทยเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมและชัดเจนต่อไป
จากนี้เราคงต้องรอดู รอลุ้น และติดตามกันว่า อนาคตของ P2P lending ในไทยจะประสบความสำเร็จมาก-น้อยแค่ไหน อย่างไรก็ดี หากทุกภาคส่วนและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจผลักดันตลาดนี้ให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องและมีวินัย เชื่อว่าประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่แก่คนไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างแน่นอน
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29