28 มิถุนายน 2561
โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบุ๊ก (E-Book) กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้รักการอ่านในยุคดิจิทัล เพราะนอกจากผู้อ่านจะได้รับความสะดวกสบายในการอ่านหนังสือผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต มือถือ หรือ โน๊ตบุ๊ก แล้ว ยังสามารถเลือกซื้อหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือบริการอีบุ๊กผ่านทางออนไลน์แบบเสียค่าสมาชิกรายเดือนก็ได้ นี่ทำให้ภาพของผู้คนที่นั่งก้มหน้า ก้มตาอ่านอีบุ๊กผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนรถไฟฟ้า หรือที่สาธารณะกลายเป็นภาพชินตาอยู่ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อกระแสความนิยมของหนังสือแบบรูปเล่มลดลง ทำให้สำนักพิมพ์ต้องหันมาปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการจำหน่ายหนังสือให้เป็นรูปแบบของอีบุ๊กมากขึ้น เพื่อรองรับกับดีมานต์ที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตีพิมพ์ในแบบรูปเล่มด้วย เหตุผลเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดอีบุ๊กขยายตัวแซงหน้าตลาดหนังสือแบบดั้งเดิมได้อย่างไม่ยาก
โดยล่าสุด PwC ได้นำเสนอรายงานประจำปี The Global Entertainment & Media Outlook 2018-2022 ที่ทำการศึกษาแนวโน้มรายได้และคาดการณ์การใช้จ่ายผ่านอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงโลก โดยปีนี้พบว่า ตลาดอีบุ๊กโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2561-2565 CAGR) ที่ 7.1% จากมูลค่า 763,491 ล้านบาทในปี 2560 เป็น 1,077,811 ล้านล้านบาทในปี 2565 โดย Amazon ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดรองลงมา ได้แก่ Apple Google และ Kobo ขณะที่แนวโน้มของตลาดหนังสือทั่วโลก คาดจะเห็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลงที่ 0.1%
หนอนหนังสือเอเชีย-แปซิฟิกหันมาอ่านอีบุ๊กมากขึ้น
คราวนี้ลองมาดูแนวโน้มตลาดอีบุ๊กในเอเชียแปซิฟิกกันบ้าง เราจะพบว่า สัญญาณการเติบโตนั้นเป็นบวก โดยรายงานคาดการณ์ว่า ตลาดอีบุ๊กในเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7.7% จาก 180,670 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 262,396 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน จะถือเป็นสองประเทศหลักที่ขับเคลื่อนการอ่านอีบุ๊กในภูมิภาคนี้ให้เติบโต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรณรงค์ของภาครัฐที่ให้นักเรียนในประเทศอ่านหนังสือเรียนแบบออนไลน์ (Digital textbook) นั่นเอง
อีกหนึ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดอีบุ๊กในภูมิภาคนี้เติบโต คงหนีไม่พ้นคนรุ่นใหม่ที่มีความชื่นชอบในเทคโนโลยี ประกอบกับความนิยมของการใช้สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายวงกว้าง ซึ่งนักอ่านส่วนใหญ่ นิยมที่จะอ่านอีบุ๊กผ่านสมาร์ทโฟน เพราะหน้าจอเล็ก กะทัดรัด เหมาะสำหรับการอ่านข้อความจำนวนมาก ต่างจากนักอ่านในประเทศแถบตะวันตกที่ส่วนใหญ่นิยมอ่านอีบุ๊กผ่าน Kindle ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์การอ่านอีบุ๊กที่ดีต่อผู้อ่าน เพราะช่วยถนอมสายตา และพกพาได้สะดวกเวลาเดินทาง
ตลาดอีบุ๊กไทยสดใสกว่าหนังสือกระดาษ
ดูเหมือนว่า แนวโน้มตลาดอีบุ๊กของประเทศไทยเองก็สดใสไม่แพ้ตลาดระดับภูมิภาค เพราะรายงานคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของตลาดอีบุ๊กบ้านเราจะอยู่ที่ 14% จากมูลค่าตลาด 2,960 ล้านบาทในปี 2560 เพิ่มเป็น 5,705 ล้านบาทในปี 2565 เช่นเดียวกับส่วนแบ่งการตลาดของอีบุ๊กที่จะเพิ่มจาก 7.4% ในปี 2560 เป็น 14.1% ในปี 2565
ในทางตรงกันข้าม หนังสือแบบรูปเล่มจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีลดลง 1.3% เป็น 34,655 ล้านบาทในปี 2565 ส่วนใหญ่คอหนังสือแบบกระดาษจะเป็นผู้ใหญ่ วัยทำงาน รวมถึงคนที่ยังคงรักการเข้าห้องสมุด หรืออ่านหนังสือเป็นรูปเล่มอยู่
สำหรับปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ตลาดอีบุ๊กไทยเติบโต เห็นจะเป็นเพราะคนไทยหันมาใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น โดยในปี 2560 คนไทยมีโทรศัพท์มือถือใช้งานจำนวนถึง 121.53 ล้านเลขหมาย และมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเฉลี่ย 4.11 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยนิยมที่จะดูหนัง ฟังเพลง ท่องโซเชียล ติดตามข่าวสาร และอ่านหนังสือ ผ่านมือถือกันมากขึ้น
นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ไทยหลายแห่งก็เบนเข็มไปทำอีบุ๊กกันมากขึ้น เช่น สำนักพิมพ์การ์ตูนยักษ์ใหญ่อย่าง วิบูลย์กิจ ที่ประกาศยุติการพิมพ์และหันไปทำอีบุ๊กแทน หรือ สำนักพิมพ์นายอินทร์ และ สำนักพิมพ์บงกช ที่หันมารุกตลาดอีบุ๊กมากขึ้น โดยแอปร้านหนังสือในรูปแบบดิจิทัลชั้นนำของไทยในเวลานี้ ได้แก่ Ookbee MEB AIS Bookstore และ Fictionlog ซึ่งนอกจากแอปพลิเคชันเหล่านี้จะให้ผู้อ่านสามารถเข้ามาดาวน์โหลดอีบุ๊กได้ฟรี ยังเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ได้นำเสนองานเขียนผ่านแอปเหล่านี้ได้อีกด้วย ซึ่งเทรนด์การอ่านอีบุ๊กของไทยส่วนใหญ่ ยังคงเป็นแนวเพื่อความบันเทิงมากกว่าใช้เพื่อการศึกษา ตามไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป แต่ในระยะข้างหน้า ความท้าทายที่สำคัญของตลาดนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือออนไลน์ ซึ่งทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการคงต้องหันมาร่วมมือกันในการเพิ่มมาตรการในการเอาผิดผู้กระทำผิดกันมากขึ้น
Notes:
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29