Crisis Management Blog

PwC แนะทางรอดของธุรกิจในสถานการณ์โควิด-19

โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย
27 มีนาคม 2563

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ที่ทวีความรุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงโดยง่าย มีหลายฝ่ายได้ออกมาประเมินความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือที่ทุกคนรู้จักดีในชื่อ ‘ซาร์ส’ เมื่อปี 2545-2546 มากถึง 3-4 เท่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน การทำงานขององค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเผชิญกับภาวะชะงักงัน และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ผู้คนตกงาน และกำลังซื้อที่หดหาย 

นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหลายองค์กรกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น พนักงานติดเชื้อ หรือตกเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและความเชื่อมั่นของธุรกิจ ดังนั้น องค์กรต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล การวางแผนการรับมือภาวะวิกฤติ และการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลของนิตยสาร Strategy+business ของเครือข่าย PwC ได้นำเสนอ 7 แนวทางรับมือกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้ 

  1. ทบทวนสถานที่และแผนการเดินทางของพนักงาน สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกคือต้องทราบว่าพนักงานอยู่ที่ไหนและมีจำนวนกี่คนที่อาจมีความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน บริษัทต้องมีการพิจารณาการทำงานจากที่บ้าน ยกเลิก หรือเลื่อนแผนการเดินทางที่ไม่จำเป็นของพนักงาน นอกจากนี้ ต้องมีนโยบายในการจำกัดการเข้า-ออกของผู้มาติดต่อ หรือในกรณีที่พนักงานเกิดเจ็บป่วย หรือต้องกักตัว รวมทั้งมีการรายงานตัวเมื่อมีผู้ติดเชื้อ และต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกขณะ
  2. อัปเดตแผนจัดการภาวะวิกฤติและความต่อเนื่องทางธุรกิจ โดยต้องเป็นแผนที่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเมื่อพนักงานจำนวนมากต้องทำงานจากที่บ้าน ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลากหลายที่เข้ามาช่วยในการทำงานนอกสถานที่ เช่น โปรแกรม G Suite หรือ Office 365
  3. ประเมินระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากคู่ค้า ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น มีชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยงหรือไม่ บริษัทมีคู่ค้าอื่น ๆ ที่ทดแทนได้หรือไม่
  4. ระบุความเสี่ยงที่นำไปสู่ความเสียหายของธุรกิจ พร้อมแผนรับมือหากองค์กรตกอยู่ในจุดวิกฤติสูงสุด โดยต้องระบุได้ว่า ทีมหรือฝ่ายงานส่วนใดจะเข้ามารับมือ หรือ มีทักษะและความสามารถในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อมีเหตุจำเป็น
  5. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่ามีข่าวและข้อมูลมากมายที่อาจสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนในสถานการณ์แบบนี้ ฉะนั้น องค์กรต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานว่า พวกเขาจะได้รับการปกป้อง ดูแล และธุรกิจได้มีแผนรองรับภาวะวิกฤติไว้แล้ว การสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน และต่อเนื่องจากทีมผู้บริหาร จะเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความมั่นใจและเรียกขวัญกำลังใจจากพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ
  6. ใช้กระบวนการวิเคราะห์เหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น โดยพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ จากเหตุการณ์จำลองความเสี่ยงเพื่อหาแนวทางป้องกัน ในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งเหตุการณ์ที่ดีที่สุดไปจนถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และกำลังคน โดยอาจจำเป็นต้องวางแผนสำหรับผลกระทบในระยะยาวเผื่อสถานการณ์ยืดเยื้อไว้ด้วย เช่น ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรหากคนต้องอยู่บ้านมากขึ้น การวางแผนการผลิตสินค้า การบริหารจัดการคลังสินค้า ธุรกิจค้าปลีกอาจต้องลดความหลากหลายของสินค้า และเพิ่มปริมาณสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น
  7. อย่ามองข้ามความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ถึงแม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นวิกฤติสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจอยู่ในเวลานี้ แต่องค์กรก็ต้องไม่มองข้ามความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น การโจรกรรมข้อมูลและความเสี่ยงจากอาชญากรรมไซเบอร์

“สิ่งแรกที่ทุกองค์กรต้องทำเมื่อเกิดภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ต้องไม่ตื่นตระหนก และ activate แผนงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินทันที โดยการสื่อสารและตัดสินใจเด็ดขาดควรต้องมาจากผู้นำองค์กร หรือแหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันความสับสนของข้อมูล และการสื่อสารที่ผิดผลาด”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยนั้นแตกต่างกันไปตามลักษณะธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงแรม และท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็น ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ค้าปลีก ในขณะที่ธุรกิจออนไลน์ รวมไปถึงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมจะกระทบน้อยกว่าแต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ เพราะสถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาสัญญาและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เคยทำกับคู่ค้า รวมไปถึงบริหารจัดการสภาพคล่องและต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ดี เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องไม่เกิดภาวะหยุดชะงัก

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us