โดย ชิน ฮอนมา หุ้นส่วนสายงาน Forensic Services บริษัท PwC ประเทศไทย
24 เมษายน 2563
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (COVID-19) สร้างความท้าทายครั้งใหญ่ให้กับผู้คนทั่วไปและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก รัฐบาลในหลายประเทศต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งออกกฎหมายหรือข้อบังคับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่การสั่งปิดร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศ หรือแม้กระทั่ง ห้ามการออกนอกเคหะสถานภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ของ PwC ประจำสัปดาห์ที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ทำการสำรวจมุมมองของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ ‘ซีเอฟโอ’ ขององค์กรต่าง ๆ จำนวน 824 คนจาก 21 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลก พบว่า ซีเอฟโอถึง 73% มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริหารต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการบริหารสภาพคล่อง การจัดการความเสี่ยงภายในองค์กร รวมถึงการออกนโยบายทำงานจากที่บ้านของพนักงานเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19
อย่างไรก็ดี แม้ว่าองค์กรส่วนใหญ่จะมีแผนการจัดการภาวะวิกฤตและความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นไว้อยู่แล้ว เช่น กรณีภัยพิบัติ อุบัติเหตุ การชุมนุมประท้วง การโจรกรรมข้อมูล และการก่อการร้าย แต่ระดับของผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีความซับซ้อนและแตกต่างจากภาวะวิกฤตอื่น ๆ อย่างมากมายมหาศาล ดังนั้น การปรับแผนรับมือได้อย่างเหมาะสมและครอบคลุมจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่องค์กรต้องมี เพื่อให้ธุรกิจกลับมาเติบโตได้หลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไป นี่จึงเป็นที่มาของ COVID-19 Navigator ที่ PwC พัฒนาขึ้น โดย COVID-19 Navigator เป็นตัวชี้วัดความพร้อมในการรับมือภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ผ่านทางออนไลน์ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจผลกระทบต่อธุรกิจและประเมินความพร้อมในการจัดการภาวะวิกฤตทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย
การจัดการและตอบสนองในภาวะวิกฤต ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้องค์กรต้องมีศูนย์ในการสั่งการที่มีระบบระเบียบและการจัดการที่ดี โดยมีการวางโครงสร้างที่ชัดเจนตั้งแต่กิจกรรมในการรับมือภาวะวิกฤต กระแสของข้อมูลที่ได้รับ และการสื่อสารไปยังผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก
กำลังแรงงาน การทำงานแบบทางไกลผ่านการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือออนไลน์ต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมาเจอหน้ากันในออฟฟิศ (Remote working) กลายเป็นมาตรฐานของการทำงานของหลาย ๆ องค์กรในการช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส แต่นั่นแปลว่า บริษัทต้องมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี การรักษาปลอดภัยทางไซเบอร์ และระบบความปลอดภัยอื่น ๆ รองรับด้วย
การปฏิบัติการและห่วงโซ่อุปทาน การบริหารจัดการในด้านนี้ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมีระบบปฏิบัติการและการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบรวมศูนย์มากหรือน้อยเพียงใด รวมถึงมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบไปในหลายพื้นที่หรือไม่ ตัวแปรเหล่านี้ จะทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดพรมแดน การห้ามเดินทางเข้า-ออกประเทศ และมาตรการอื่น ๆ ของภาครัฐที่แตกต่างกัน
การเงินและสภาพคล่อง บริษัทอาจต้องทบทวนการคาดการณ์ทางการเงิน แบบจำลองทางการเงิน และการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของตนใหม่ ซึ่งจากผลสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ฉบับแรกพบว่า ซีเอฟโอเกือบครึ่ง (48%) กำลังมีการปรับเปลี่ยนแผนทางการเงินขององค์กรในประเด็นนี้
ภาษีและการค้า ผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นระลอกในประเด็นเรื่องของภาษีอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบุคคล เช่น (พนักงานที่ต้องมีการย้ายถิ่นฐาน) และในระดับองค์กร
กลยุทธ์และแบรนด์ แนวทางในการประยุกต์ใช้นวัตกรรม การบริหารจัดการความเสี่ยง และรูปแบบการปฏิบัติการโดยรวมขององค์กร รวมถึงการปกป้องและรักษาแบรนด์จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญของความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตขององค์กรนั้น ๆ
สำหรับองค์กรที่ต้องการประเมินความพร้อมของตนในการรับมือกับภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทั้ง 6 ด้านที่กล่าวมาข้างต้น สามารถเข้ามาทำแบบประเมินผลออนไลน์ ที่ว่านี้ได้ โดยคะแนนที่ท่านได้ในแต่ละด้าน จะช่วยให้ท่านเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจและช่วยให้สามารถประเมินความสามารถขององค์กรได้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุงแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
อ้างอิง:
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29