ESG Blog

มาทำความรู้จักกับ ESG แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 

โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง
หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษาและหัวหน้าสายงานธุรกิจบริการทางการเงิน
บริษัท PwC ประเทศไทย
24 ธันวาคม 2563

ปัจจุบัน “แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” (Environmental, Social, Governance: ESG) กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก เราจะเห็นได้ว่า ผู้จัดการกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างประเทศ ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวมมากขึ้น เพราะทุก ๆ การตัดสินใจสะท้อนให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการด้วย

สำหรับประเทศไทย การลงทุนแบบยั่งยืนที่ว่านี้ กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในตลาดทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทจดทะเบียนชั้นนำหลายรายมีการนำข้อมูลทางด้าน ESG มาเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารชนให้ทราบถึงการดำเนินงานของกิจการในรูปแบบของการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability reporting) ควบคู่ไปกับการรายงานข้อมูลทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการการลงทุนหลายแห่ง ที่มีการออกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ก็ได้สนับสนุนการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ รวมไปถึงจัดทำดัชนี SETTHSI 

ทั้งนี้ รายงานความยั่งยืน จะเปรียบเสมือนคัมภีร์เล่มสำคัญที่สะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจของกิจการในระยะยาว เพราะหากบริษัทไหนมีความโดดเด่นในด้าน ESG นั้นย่อมหมายความว่า บริษัทนั้น ๆ มีกลยุทธ์ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ และกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานทั้งในเชิงคุณภาพ (คำนึงถึงมิติทางด้าน ESG) และเชิงปริมาณ (ผลประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน) อย่างแท้จริง 

สำหรับการวัดผลทางด้าน ESG นั้น องค์กรต้องพิจารณาเลือกตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ และมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อกำหนดวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการวัดผลและจัดทำรายงาน ซึ่ง PwC ขอเสนอแนะตัวอย่างของการวัดผลทางด้าน ESG ดังต่อไปนี้ 

  • มิติด้านสิ่งแวดล้อม สามารถวัดได้จากปริมาณการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการผลิตและการเดินทางของผู้บริหารและพนักงาน ปริมาณการปล่อยของเสียจากการผลิต ปริมาณการใช้กระดาษ และเปอร์เซ็นต์การประหยัดพลังงานและการใช้น้ำในสถานประกอบการ 

  • มิติด้านสังคม สามารถวัดได้จากเปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่ได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลภายในองค์กร เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมให้ทราบถึงผลกระทบของ ESG ที่มีต่อผลประกอบการของธุรกิจ กิจกรรมหรือโครงการเพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร เป็นต้น

  • มิติด้านบรรษัทภิบาล สามารถวัดได้จากความแตกต่างหลากหลายของผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัท การดำเนินการเพื่อลดการทุจริต การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมด้าน ESG ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการมีโครงสร้างกำกับดูแลกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ PwC ยังได้มีคำแนะนำ 6 ข้อสำหรับองค์กรไทยในการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้

  1. บรรจุความสำคัญของ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร ต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามกรอบของ ESG และระบุตัวชี้วัดที่สามารถนำไปใช้ประเมินผลและสร้างคุณค่าให้กับองค์กรในระยะยาว พร้อมกับสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นต่อองค์กร
  2. สร้างความตระหนักว่า ESG เป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายในองค์กร ผู้บริหารระดับสูงต้องร่วมผลักดันธุรกิจในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และ ชุมชนส่วนรวม และสร้างสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นกับพนักงาน คู่ค้า นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานขององค์กร 
  3. มีกระบวนการและมาตรการในการวัดผล ESG ที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ข้อมูลด้าน ESG ที่องค์กรเปิดเผยในรายงานความยั่งยืนจะมีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใสเช่นเดียวกับรายงานทางการเงิน 
  4. กำหนดรูปแบบของการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจภายในองค์กร และทำให้รายงานความยั่งยืนยิ่งมีคุณภาพมากขึ้น
  5. เลือกบริษัทผู้ทวนสอบที่น่าเชื่อถือได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการวัดผลและการรายงานด้าน ESG 
  6. ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานผลด้าน ESG อย่างสม่ำเสมอ ESG ไม่ใช่ ‘กระแส’ หรือ ‘เทรนด์’ ที่ได้รับความนิยมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หากแต่เป็นการช่วยให้องค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากมิติด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม อย่างเป็นองค์รวม และสามารถวางแผนการรับมือได้อย่างทันท่วงที ฉะนั้น ผู้บริหารจะต้องมีเป้าประสงค์ และมีความยึดมั่นที่จะนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนให้ได้ 

///จบ////

อ้างอิง:

  1. Making sense of ESG, PwC

  2. Sustainability/ESG reporting - Why audit committees need to pay attention, PwC US

  3. หุ้นยั่งยืน - THAILAND SUSTAINABILITY INVESTMENT, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  4. ดัชนี SET THSI, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us