“6 เมกะเทรนด์” เปลี่ยนระบบการชำระเงินโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหาร และ หุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย
27 กรกฏาคม 2564
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดส่งผลให้อุตสาหกรรมธุรกิจบริการทางการเงินยิ่งต้องเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลให้เร็วขึ้น เพราะในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการทั่วโลกต่างหันมาใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แทบจะเต็มรูปแบบจนปริมาณธุรกรรมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้หลายประเทศก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) หรือใช้ Less Cash กันมากขึ้นในเวลานี้
ทั้งนี้รายงาน Payment 2025 & Beyond ของ PwC ได้คาดการณ์ 6 เมกะเทรนด์ที่จะเข้ามาพลิกโฉมระบบการชำระเงินโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
- การเข้าถึงบริการทางการเงินและความไว้วางใจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามของผู้นำประเทศหลายแห่งในการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงิน หรือไม่มีบัญชีธนาคาร ยกตัวอย่างในประเทศไทยของเราเองมีระบบพร้อมเพย์ ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถบริหารจัดการธุรกรรมทางการเงินของตัวเองได้ ผ่านบัญชีหรือกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ หรืออีเมล เป็นต้น
นอกจากนี้การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมระบบการชำระเงินให้ไปไกลกว่าเดิม เพราะปัจจุบันคนจำนวนมากสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟน ทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือมีฐานะยากจน สามารถมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยภายในปี 2566 การเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกจะมากถึง 80% นำโดยตลาดเกิดใหม่อย่างอินโดนีเซีย ปากีสถาน และเม็กซิโก
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางยังคงต้องมีบทบาทในการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และสร้างเสถียรภาพของระบบการชำระเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้ใช้บริการโดยรวม
- สกุลเงินดิจิทัลกำลังมา
กระแสของสกุลเงินดิจิทัลทั้งที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currencies: CBDCs) และคริปโตเคอร์เรนซีของภาคเอกชนจะยิ่งเข้ามามีบทบาทต่อระบบสถาบันการเงินและการชำระเงินในระยะข้างหน้า โดยรายงาน PwC Global CBDC Index 2021 ระบุว่า 60% ของธนาคารกลางทั่วโลกในปัจจุบันกำลังศึกษาการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลทั้งในรูปแบบการใช้งานธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDCs) และการใช้งานสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (Retail CBDCs) หรือโครงการสกุลเงินดิเอม (หรือเดิมเรียกว่า ลิบรา) ของ Facebook ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจจะมีการใช้สกุลเงินหยวนดิจิทัล (Digital Renminbi) หรืออีหยวน เป็นครั้งแรก ณ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปีหน้า
- จับตากระเป๋าเงินดิจิทัล
รายงานของกลุ่มเทคโนโลยีบริการทางการเงิน FIS ระบุว่า ธุรกรรมผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลทั่วโลกนั้นเติบโตถึง 7% ในปีที่ผ่านมา และคาดภายในปี 2567 การชำระค่าสินค้าและบริการผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลจะคิดเป็นมากกว่าครึ่งของการชำระเงินแบบ E-Payment ทั่วโลก ตามการใช้งานของผู้บริโภคที่จะยิ่งหันมาใช้ QR Code แทนการใช้เงินสดหรือบัตรในการชำระค่าสินค้าและบริการ และเพื่อตอบรับเทรนด์ดังกล่าว ธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตจะต้องร่วมมือกันเพื่อลงทุนในธุรกิจกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มในการชำระเงินที่อาจเข้ามาแทนที่รูปแบบการชำระเงินแบบเดิมด้วย ในระยะถัดไป การลงทุนในเทคโนโลยีบนมือถือจะขยายรูปแบบจากการชำระเงินรายย่อยไปสู่การชำระเงินแบบธุรกิจสู่ธุรกิจมากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของระบบซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง
- สนามรบการชำระเงินที่เปลี่ยนไป
กระแสของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชำระเงินด้วยบัตรไปสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลที่ว่านี้ จะส่งผลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกันมากขึ้น เช่น ต้องพัฒนาไปสู่ Open Banking หรือการที่ผู้ให้บริการทางการเงินเปิดเผยข้อมูลการเงินของลูกค้าของตนให้กับบุคคลที่สาม (Third-party providers: TPPs) ซึ่งต้องผ่านการยินยอมจากลูกค้าผู้เป็นเจ้าของบัญชีก่อน และในขณะเดียวกันต้องทำการจัดจ้างระบบคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านแพลตฟอร์มจากภายนอกเข้ามาช่วยหนุนโครงสร้างพื้นฐานของการชำระเงินภายในองค์กร เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าในการนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่าง อีกทั้งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ปรับสู่ดิจิทัลมากขึ้น
- ก้าวสู่การชำระเงินข้ามพรมแดน
ในโลกดิจิทัลที่ธุรกรรมทางการเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำลง ทำให้นวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศพัฒนาขึ้นไปด้วย โดยล่าสุด ประเทศสิงคโปร์ได้จับมือกับประเทศไทยเพื่อทำเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของประเทศร่วมกัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้แบบเรียลไทม์ผ่านการใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ในระยะต่อไปเราคงจะได้เห็นการผลักดันนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับการบูรณาการทางการเงินขึ้นไปอีกขั้นอย่างแน่นอน
- อาชญากรรมทางการเงินจะผุดเป็นดอกเห็ด
ความเสี่ยงของการเกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยผลสำรวจของเราพบว่า ความปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นความกังวลเป็นอันดับต้นๆ ที่สถาบันการเงิน ฟินเทค และธุรกิจด้านสินทรัพย์ทั่วโลกคำนึงถึงเมื่อต้องกำหนดกลยุทธ์ทางเทคโนโลยี ดังนั้นธนาคารผู้ให้บริการระบบการชำระเงินและหน่วยงานกำกับดูแล จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันการฉ้อโกงและการฟอกเงิน โดยจะต้องเข้าใจความเสี่ยงและกำหนดมาตรการในการรักษาความปลอดภัยของระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความรัดกุม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับประโยชน์ ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายในการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า
สุดท้ายเมกะเทรนด์เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมธุรกิจบริการทางการเงินจะต้องเผชิญและต้องตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง ผู้ประกอบการรายใดที่สามารถกำหนดกลยุทธ์ได้เฉียบคมและเห็นโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและพัฒนาธุรกิจของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ก็จะไม่พลาดโอกาสในการดึงพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาเสริมศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางสภาวะตลาดที่นับวันจะยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้น