Green Hydrogen Blog

ส่องอนาคตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว

โดย อมรรัตน์ เพิ่มพูนวัฒนาสุข
หัวหน้าสายงานธุรกิจพลังงาน และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี
บริษัท PwC ประเทศไทย

“ไฮโดรเจนสีเขียว” (Green Hydrogen) เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในกระบวนการผลิต นับเป็นหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas: GHG emission) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ประชาคมโลกทัั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทชั้นนำจากทั่วทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างพากันออกมาตั้งปณิธานในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero commitment) 

อย่างไรก็ดี ความท้าทายของตลาดพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวนั้นยังมีอยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องของความต้องการของตลาด ต้นทุนพื้นฐาน อีกทั้งความพร้อมใช้งานของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศทั่วโลก

ล่าสุด PwC ได้จัดทำรายงาน 1“The green hydrogen economy: Predicting the decarbonisation agenda of tomorrow” เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานได้เห็นถึงทิศทางของตลาดไฮโดรเจนสีเขียวในระยะข้างหน้า โดยทำการวิเคราะห์อุปสงค์ของการใช้พลังงานประเภทนี้ ต้นทุนต่อประเทศ รวมถึงแนะนำตลาดส่งออกและนำเข้าไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ภาพรวมการผลิตก๊าซไฮโดรเจน

ปัจจุบันก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนสีเทา (Grey hydrogen) ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากไม่มีกลไกกำหนดราคาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ไฮโดรเจนสีเทานั้นจะมีราคาถูกอยู่ที่ 1-2 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือประมาณ 38-77 บาทต่อกิโลกรัม) ในทางตรงกันข้าม ไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) หรือ การนำพลังงานไฟฟ้ามาแยกโมเลกุลของน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน เนื่องจากไฮโดรเจนสีเขียวไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จึงสามารถตอบโจทย์แนวทางลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี  ไฮโดรเจนสีเขียวมีราคาอยู่ที่ราว 3-8 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือประมาณ 115-309 บาทต่อกิโลกรัม) ในตลาดบางประเทศ ซึ่งสูงกว่าราคาของไฮโดรเจนสีเทา

รายงานของ PwC ระบุว่า ตลาดที่มีทรัพยากรหมุนเวียนที่อุดมสมบูรณ์และมีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ถือเป็นตลาดผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ในราคาระหว่าง 3-5 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 115-193 บาทต่อกิโลกรัม) ในขณะที่ต้นทุนการผลิตในยุโรปจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 ยูโรต่อกิโลกรัม แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

เมื่อพิจารณาแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในอนาคต รายงานของ PwC ชี้ว่า ความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางต่อเนื่องไปจนถึงปี 2573 จากการใช้งานที่เฉพาะเจาะจงในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง พลังงาน และก่อสร้าง โดยความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมจะก่อให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาโครงการไฮโดรเจนในอนาคต

ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนจะถูกลงในที่สุด

แม้วันนี้ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนการผลิตจะปรับตัวลดลงตามต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยรายงานของ PwC คาดว่า ต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนจะลดลงถึงราว 50% ภายในปี 2573 จากนั้นจะยิ่งลดลงเรื่อยในระดับที่ช้ากว่าไปจนกระทั่งถึงปี 2593 โดยยกตัวอย่างต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณแค่ 1-1.5 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 38-57 บาทต่อกิโลกรัม) เท่านั้น

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้นทุนการผลิตของประเทศในภูมิภาคที่มีทรัพยากรหมุนเวียนจำกัด เช่น บางพื้นที่ในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ยูโรต่อกิโลกรัม (หรือราว 76 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้อาจต้องมีการนำเข้าก๊าซไฮโดรเจนสีเขียวจากที่อื่น

ใครนำเข้า-ส่งออกไฮโดรเจนสีเขียว

รายงานของ PwC ยังระบุต่อว่า ภูมิภาคที่มีทรัพยากรหมุนเวียนอุดมสมบูรณ์ แต่มีพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น อาจจำเป็นต้องนำเข้าไฮโดรเจนสีเขียว เพราะมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อให้ประชากรใช้โดยตรงและแปลงเป็นพลังงานไฮโดรเจน แต่ประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ที่มีพื้นที่สำหรับการผลิตก๊าซไฮโดรเจนทั้งเพื่อการแข่งขันและไม่แข่งขัน จะมีการพัฒนาไปสู่การค้าก๊าซไฮโดรเจนภายในประเทศ (In-country trading)

นอกจากนี้ เราจะได้เห็นศูนย์การส่งออกและนำเข้าที่ถูกพัฒนาขึ้นทั่วโลก ไม่แตกต่างจากศูนย์กลางการค้าน้ำมันและก๊าซในปัจจุบัน และจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นในภูมิภาคที่มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนอุดมสมบูรณ์ด้วย

จากการศึกษาของ PwC พบว่า ประเทศที่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแต่อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียนกำลังพัฒนากลยุทธ์การผลิตและส่งออกไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตส่วนเกิน ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีพื้นที่น้อย ประชากรหนาแน่น และมีทรัพยากรหมุนเวียนที่จำกัด จะนำเข้าไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเห็นได้จากการส่งออกพลังงานหมุนเวียนจากโมร็อกโกไปเยอรมนี หรือ จากออสเตรเลียไปญี่ปุ่น เป็นต้น

การพัฒนาโครงการไฮโดรเจนสีเขียวให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการช่วยผลักดันให้เกิดความต้องการใช้พลังงานประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนของภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก กรอบการกำกับดูแล ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุน ภาษี และภาษีเงินทุนที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditures) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Expenditures) ซึ่งจะส่งผลต่อความเป็นไปได้ของโครงการ 

ในส่วนของผู้นำภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมพลังงาน ต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับกระแสไฮโดรเจนสีเขียวในอนาคต โดยเริ่มจากการพัฒนากลยุทธ์พลังงานไฮโดรเจนที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี  การควบรวมกิจการ และการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังต้องทำงานร่วมกับภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้ไฮโดรเจนสีเขียวเป็นทางเลือกในการขับเคลื่อนโลกแห่งพลังงานสะอาดที่ทุกคนคาดหวัง

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ทาง efinancethai

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us