Crisis Management Blog

สร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจรับมือกับความเสี่ยงและภาวะวิกฤต

โดย สินสิริ ทังสมบัติ
หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน
บริษัท PwC ประเทศไทย

    ท่ามกลางภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ต้องอาศัยการบริหารองค์กรด้วยความยืดหยุ่น (Agility) ซึ่งเราจะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกทำให้องค์กรต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว 

    วันนี้ดิฉันจึงอยากนำข้อมูลจากบทความ ‘Reframing our approach to risk and high-impact events’ ของ PwC ที่นำเสนอแนวทางสำคัญในการปรับตัวให้องค์กรอยู่รอดในภาวะวิกฤตของธุรกิจมาแลกเปลี่ยนกับคุณผู้อ่าน เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงสามารถนำแนวคิดจากบทความไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองได้

เรียนรู้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่

    ผลจากการสำรวจซีอีโอทั่วโลก ประจำปีครั้งที่ 24 ของ PwC ระบุว่า ซีอีโอกว่า 76% มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีซีอีโอมากกว่าครึ่ง (52%) ที่แสดงความกังวลต่อภัยคุกคามจากโรคระบาดและภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตขององค์กรในอนาคต ซึ่งในกรณีนี้เราจะเห็นว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่แต่สร้างผลกระทบสูงกับองค์กร (High-impact events)

    เหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบอย่างสูงนั้นมักจะมีระยะเวลาสั้นถึงระยะกลาง และขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ (Resilience) นั่นคือ มีความสามารถในการรับมือต่อวิกฤติที่เข้ามากระทบและสามารถก้าวพ้นวิกฤติดังกล่าวออกมาได้ดีกว่าคู่แข่ง องค์กรใดที่สามารถต้านทานผลกระทบและประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตไปได้ องค์กรนั้น ๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และอาจจะได้รับผลกระทบน้อยลงในวิกฤตครั้งต่อ ๆ ไป เพราะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดและประสบการณ์ในอดีต

ธุรกิจจะโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องมีความยืดหยุ่น

    แม้ว่าการตอบสนองต่อวิกฤตโรคระบาดของแต่ละธุรกิจนั้นจะแตกต่างกันออกไป แต่องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักเป็นองค์กรที่มีงบดุลหรืองบแสดงฐานะทางการเงิน ที่แข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองจำนวนมากและเพียงพอ หรือเป็นธุรกิจที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มและมีความต้องการสูง เช่น บริการจัดส่งสินค้าของชำออนไลน์ โดยธุรกิจที่กล่าวมานี้ มีความยืดหยุ่นมากพอในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินธุรกิจเมื่อต้องการ 

    นอกจากนี้ การปรับสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังทำให้ธุรกิจจำนวนมากประสบความสำเร็จ ตามด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานทางไกลและดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างผลกระทบในระยะยาว และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

เส้นทางสู่ความเจริญรุ่งเรือง

    ทั้งนี้ PwC ได้นำเสนอ 4 แนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ตามรูปแบบธุรกิจ ประสบการณ์ และระดับของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน

  1. ตอบโต้ (React): ปกป้องความปลอดภัยของผู้คนและทรัพย์สิน พร้อมต้องใส่ใจกับการรักษากระแสเงินสดและเงินทุนหมุนเวียน สิ่งสำคัญคือ ต้องมีข้อมูลและบทวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยอ้างอิงจากการสร้างแบบจำลองตามข้อเท็จจริง
  2. สร้างเสถียรภาพ (Stabilise): ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับการดำเนินงาน โดยควรพิจารณาถึงผลกระทบของการหยุดชะงักต่อความเสี่ยงพื้นฐานประเภทต่าง ๆ เช่น การฉ้อโกง ไอที และความปลอดภัยทางไซเบอร์ และตระหนักถึงการประหยัดต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นด้วย
  3. ฟื้นตัว (Rebound): ธุรกิจต้องรีบเปลี่ยนจากโหมดวิกฤตไปสู่การฟื้นตัวเมื่อการหยุดชะงักผ่านพ้นไป ในขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ อย่าใช้การเกิดวิกฤตมาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของการลดต้นทุน หรือทรัพยากรที่จำเป็น โดยต้องไม่มองข้ามการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์และความเสี่ยงอื่น ๆ ด้วยการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress testing) และติดตามความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจควรพิจารณาการสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ หรือเดินหน้าทำดีลควบรวมกิจการที่เน้นการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
  4. เจริญเติบโต (Thrive): ผู้บริหารต้องใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ในอดีต เพื่อฉวยโอกาสในปัจจุบัน โดยต้องมีความสามารถในการประเมินกลยุทธ์และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงสร้างความยืดหยุ่นขององค์กร ผ่านการสร้างความยืดหยุ่นและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน พร้อมยึดเป้าประสงค์ของการดำเนินธุรกิจเป็นหัวใจในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต 

    เราจะเห็นว่า ผู้บริหารควรนำผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มาทบทวนการออกแบบแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ธุรกิจ เพราะนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรได้สร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังเป็นหนทางสู่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ทาง efinancethai

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us