Tax Blog

แนวทางการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ตอนที่ 1 - การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรม Cash pooling

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติต่างมองหากลยุทธ์ทางการเงินที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้ ซึ่งหนึ่งในทางเลือกคือการบริหารจัดการสภาพคล่องภายในกลุ่มบริษัทกันเองผ่านการจัดหาแหล่งเงินทุนจากบริษัทในเครือ ก่อนที่จะไปทำการจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่พบคดีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาโอนของธุรกรรมทางการเงิน แต่เนื่องจากหลักการสำหรับธุรกรรมทางการเงินได้มีการกำหนดและเปิดเผยไว้ใน OECD Transfer Pricing Guidelines 2022 (คู่มือแนวทางการตั้งราคาโอนของ OECD ปี 2565)  จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า กรมสรรพากรไทยก็อาจจะหยิบยกแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในการพิจารณาและตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของผู้เสียภาษีในประเทศไทย

ทีม Financial Services Transfer Pricing (FSTP) ของ PwC ประเทศไทย จึงอยากถือโอกาสนี้ในการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านข้อพิพาทที่น่าสนใจระหว่างผู้เสียภาษีและกรมสรรพากรในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก OECD ซึ่งเป็นประเด็นการพิจารณาในส่วนของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่างกันภายใต้ธุรกรรม Cash pooling การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการให้กู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ ตลอดจนการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันระหว่างกัน โดยบทความแรกนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานที่นำมาใช้ในกำหนดอัตราดอกเบี้ยของการกู้ยืมภายใต้ธุรกรรม Cash pooling

Cash pooling คืออะไร

Cash pooling คือ ระบบการจัดการสภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัท โดยกำหนดให้มีบริษัทในกลุ่มทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง (Pool leader) ที่จะคอยบริหารรวบรวมยอดคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ “บัญชีกลาง”[1]

โดยระบบ Cash pooling นั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ได้แก่

1) Physical pooling คือ ระบบการโอนยอดเงินคงเหลือตามจริงของแต่ละบริษัทมายังบัญชีกลาง โดยระบบนี้จะส่งผลให้เกิดการกู้ยืมเงินกันจริงภายในกลุ่มบริษัท[2]

2) Notional pooling คือ ระบบการบริหารจัดการสภาพคล่องทางตัวเลขที่มิได้มีการโอนยอดเงินคงเหลือตามจริง แต่จะเป็นการบริหารจัดการผ่านการรวบรวมและทดยอดเงินสดคงเหลือหรือเงินสดขาดของแต่ละบริษัทที่เข้าร่วม Cash pooling ไว้ที่บัญชีกลาง[3]

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่า notional pooling จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ แต่พบว่าระบบ physical pooling นั้นก็ยังคงเป็นระบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย  

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรม Cash pooling - แนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ พบว่า บริษัทไทยส่วนมากนั้นอาจเลือกที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการนำเอากระแสเงินสดส่วนเกิน หรือเงินทุนหมุนเวียนของตนเองไปให้ Pool leader กู้ยืมภายใต้ธุรกรรม Cash pooling โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหลักการที่อ้างอิงมาจากแนวข้อหารือที่กรมสรรพากรไทยได้เคยให้ไว้สำหรับการให้กู้ยืมเงินของบริษัทในเครือ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าข้อหารือดังกล่าวนั้นล้วนแต่เป็นข้อหารือที่ออกมาตั้งแต่ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการประกาศใช้กฎหมายเฉพาะสำหรับการกำหนดราคาโอนในปี 2562 และข้อหารือเหล่านั้นก็เป็นเพียงการพิจารณาในมุมมองของผู้ให้กู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า ผู้ให้กู้นั้นควรจะได้รับค่าตอบแทนดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่ต่ำไปกว่าต้นทุนทางการเงินของผู้ให้กู้ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นความน่าเชื่อถือด้านการเงินของผู้กู้ (Credit rating) หรือ ระยะเวลาการให้กู้ยืม เป็นต้น ทำให้อาจเกิดคำถามว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับอัตราเงินฝากธนาคารนั้นจะยังคงเป็นที่ยอมรับและถือว่าเป็นการตั้งราคาโอนที่สอดคล้องกับหลักการอิสระ (Arm’s length principle) หรือไม่

เนื่องจากข้อกำหนดสำหรับการตั้งราคาโอนของประเทศไทยนั้นก็อ้างอิงมาจากหลักการอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการการตั้งราคาโอนที่กำหนดโดย OECD เราจึงอาจวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในธุรกรรมเหล่านี้ได้จากข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจริงบนหลักการอิสระในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD

คดีพิพาทที่เกี่ยวกับราคาโอนของธุรกรรม Cash pooling ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD

หนึ่งในคดีตัวอย่างของกรณีธุรกรรม Cash pooling ที่เราจะหยิบมาพิจารณา นั่นคือ คดีพิพาทระหว่าง Bombardier Group กับกรมสรรพากรของประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นกรณีที่บริษัทในกลุ่ม Bombardier ได้มีการนำเอากระแสเงินสดส่วนเกินฝากเข้าไปในบัญชีกลางของ Pool leader ที่อยู่นอกประเทศเดนมาร์ก โดยบริษัทผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนที่พิจารณาจากอัตราเงินกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีความเสี่ยง (‘อัตราพื้นฐาน’) หักร้อยละ 0.5 ในขณะที่ผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับ Pool leader ในอัตราพื้นฐานบวกร้อยละ 1.15

โดยกลุ่มบริษัท Bombardier มองว่า ข้อตกลงดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับหลักการอิสระ เนื่องจากบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันทั้งหมดนั้นได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนการเงินที่ต่ำลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินกู้ที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านภาษีของประเทศเดนมาร์กกลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว โดยมองว่า การฝากเงินกับ Pool leader ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการทางการค้านั้น ไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับการฝากเงินกับสถาบันการเงิน เนื่องจาก Pool leader นั้นมีความน่าเชื่อถือทางการเงินน้อยกว่าสถาบันการเงิน จึงถือเป็นกรณีที่บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก (ที่มีสถานะเป็นผู้ฝากเงินในธุรกรรม Cash pooling) ให้ Pool leader กู้ยืมเงิน และมีภาระที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ หน่วยงานด้านภาษีของประเทศเดนมาร์กยังมองว่า Pool leader นั้น ได้รับผลตอบแทนที่มากเกินไป จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย (ส่วนต่างระหว่างอัตราเงินฝากและอัตราเงินให้กู้ยืม) เมื่อเทียบกับหน้าที่งานที่มีเพียงงานธุรการเท่านั้น ด้วยเหตุนี้หน่วยงานด้านภาษีของประเทศเดนมาร์กจึงมีความเห็นว่า บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก ซึ่งเป็นผู้ให้กู้นั้นควรที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อสะท้อนถึงบทบาทและหน้าที่ในส่วนของการให้กู้ยืมและความเสี่ยงด้านเครดิตที่ต้องแบกรับเมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกรรม Cash pooling

เมื่อข้อพิพาทนี้ได้ไปถึงชั้นศาล ศาลของประเทศเดนมาร์กได้มีความเห็นพ้องกับแนวทางการตัดสินของหน่วยงานด้านภาษี ซึ่งถือเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า ผลตอบแทนที่ Pool leader ได้รับนั้นสูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับขอบเขตหน้าที่งานธุรการและความเสี่ยงที่มีอยู่อย่างจำกัด และพิจารณาให้มีการปรับปรุงเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสัญชาติเดนมาร์ก (ในฐานะผู้ให้กู้) พึงได้รับเพื่อให้สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีมากกว่าความเสี่ยงจากธุรกรรมที่เกิดกับธนาคารพาณิชย์

อีกหนึ่งข้อพิพาทที่ได้มีการนำเอาแนวทางข้างต้นมาปรับใช้ คือ ข้อพิพาทระหว่างกลุ่มบริษัท Vodafone และ หน่วยงานด้านภาษีของประเทศฮังการี ซึ่งในกรณีนี้หน่วยงานด้านภาษีได้ทำการโต้แย้งและชนะในชั้นศาล เนื่องจากหน้าที่งานและความน่าเชื่อถือด้านการเงินของ Pool leader นั้นไม่เหมือนกันกับกรณีการฝากเงินกับสถาบันทางการเงิน จึงไม่สามารถอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร เพื่อนำมาตั้งราคาค่าตอบแทนดอกเบี้ยของเงินที่ให้ Pool leader กู้ยืมได้ บริษัทผู้ให้กู้จึงต้องปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเงินฝากธนาคารเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาของการให้กู้ยืมเงิน

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านราคาโอนสำหรับธุรกรรม Cash pooling

เมื่อเปรียบเทียบหลักการของกรมสรรพากรประเทศไทยที่ได้เคยให้ไว้ในข้อหารือ กับแนวทางของหน่วยงานภาษีในต่างประเทศ จะพบว่าในการพิจารณาหลักการอิสระในต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการพิจารณาทางเลือกอื่นสำหรับการเข้าทำธุรกรรมของบริษัท (เช่น การนำกระแสเงินสดส่วนเกินไปฝากธนาคาร) ปัจจัยสำคัญดังกล่าว ได้แก่ ความน่าเชื่อถือด้านการเงิน บทบาทและหน้าที่งาน รวมไปจนถึง ความเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ที่เข้าร่วมในการทำธุรกรรม Cash pooling ทั้งหมด

เนื่องจากประเทศไทยเองก็ได้นำเอาหลักการอิสระมาใช้เป็นหลักการของการกำหนดราคาโอนของรายการระหว่างกัน บริษัทในประเทศไทยที่เข้าทำรายการ Cash pooling จึงมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น เนื่องจากกรมสรรพากรไทยนั้นสามารถอ้างอิงถึงหลักการอิสระและประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วในกลุ่มประเทศ OECD มาปรับใช้ในการตรวจสอบและประเมินภาษีสำหรับการเข้าทำรายการธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น บริษัทที่มีการเข้าร่วม Cash pooling ควรที่จะจัดให้มีการทบทวนนโยบายการกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงพิจารณาปรับปรุงนโยบายตามความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการอิสระ พร้อมทั้งจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการชี้แจงและสนับสนุนนโยบายด้านราคา โดยการกู้ยืมเงินกันในธุรกรรม Cash pooling นั้นควรที่จะต้องพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามอัตราตลาดที่สอดคล้องกับความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้ ลักษณะและรูปแบบของธุรกรรม รวมไปถึง บทบาท หน้าที่งาน และความเสี่ยงของ Pool leader และผู้เข้าร่วมใน Cash pooling แต่ละราย

สำหรับบทความในตอนต่อไปนั้น ทางทีม FSTP ของ PwC ประเทศไทย จะมานำเสนอข้อพิพาทและประเด็นที่น่าสนใจ ในส่วนของการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวภายในกลุ่มบริษัท และการพิจารณาค่าตอบแทนจากการค้ำประกัน  

โปรดติดตามบทความของเราในตอนต่อไป

[1] คู่มือแนวทางการตั้งราคาโอนของ OECD ปี 2565, ย่อหน้าที่ 10.109 – 10.111

[2] คู่มือแนวทางการตั้งราคาโอนของ OECD ปี 2565, ย่อหน้าที่ 10.112

[3] คู่มือแนวทางการตั้งราคาโอนของ OECD ปี 2565, ย่อหน้าที่ 10.113 – 10.114

โดย:

  1. นพจารี วัฒนานุกิจ ผู้ช่วยหุ้นส่วนสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย
  2. วศุนธรี จรรยาทิพย์สกุล ผู้จัดการอาวุโสสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย
  3. วริศรา มหาไม้ ผู้จัดการสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us