AI Trends Blog

6 เทรนด์เทคโนโลยี AI ที่ธุรกิจห้ามพลาดในปี 2022

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
8 เมษายน 2565

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence: AI กำลังถูกจับตามองในฐานะเทคโนโลยีทรงอิทธิพลที่เป็น ‘Game Changer’ ในการยกระดับองค์กรให้ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่วิถีดิจิทัลมากขึ้น ยิ่งในยุคที่ข้อมูลเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ต่อการดำเนินธุรกิจ ยิ่งทำให้ความต้องการโซลูชันใหม่ๆ โดยใช้ AI เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

ด้วยศักยภาพในการเรียนรู้เชิงลึกจากข้อมูลขนาดใหญ่ วันนี้ AI จึงไม่ใช่แค่เครื่องมือที่ ‘มีได้ก็ดี’ (Nice to have) แต่กลายเป็นเครื่องมือที่ทุกองค์กรยุคใหม่ ‘ต้องมี’ (Must have) ถึงจะอยู่รอด  

เมื่อเร็วๆ นี้ PwC ได้จัดทำรายงาน Six predictions for artificial intelligence in 2022 ที่ได้ศึกษาถึง 6 แนวโน้มอนาคตของ AI ที่น่าจับตามองในปี 2022 ไว้อย่างน่าสนใจ โดยวันนี้ผมจะขอนำมาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่าน เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจได้นำ AI ไปปรับใช้อย่างถูกทาง

  1. AI จะถูกนำไปใช้งานร่วมกับดาต้าและคลาวด์มากขี้น
    แนวโน้มการนำ AI มาช่วยจัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูลในระบบคลาวด์จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะในยุคที่ข้อมูลคือขุมทรัพย์แห่งใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลจนเกิดเป็นข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ขององค์กรได้ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของการแข่งขัน ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่าง AI และคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) ที่เชื่อมต่อคลังข้อมูลและซอฟต์แวร์ต่างๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลของระบบคลาวด์ให้ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขี้น เอื้อต่อธุรกิจในการนำข้อมูลไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจให้กับองค์กร
  2. AI จะถูกนำมาใช้จำลองสถานการณ์
    AI จะถูกนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรในรูปแบบของคู่เสมือนดิจิทัล (Digital Twin) หรือโมเดลจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต และเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการจำลองเหตุการณ์จากการทำงานของ AI ร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) หรือคลาวด์ ที่เก็บข้อมูลสถานะของวัตถุแบบเรียลไทม์ เช่น ธุรกิจโรงงานอาจนำเทคโนโลยีคู่เสมือนดิจิทัลมาใช้ประเมินสถานะของเครื่องจักร ตรวจสอบการทำงานร่วมกันของเครื่องจักรหลายๆ ชิ้น หรือประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ผ่านโมเดลจำลอง นอกจากนี้โมเดลจำลองยังสามารถนำมาคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคและคู่แข่ง ด้วยการจำลองสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาด เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้นำองค์กรสามารถตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
  3. องค์กรจะมีการจัดการข้อมูลเชิงลึก 
    เมื่อธุรกิจประยุกต์ใช้ AI ภายในองค์กรไปได้ระดับหนึ่ง ก็จะสามารถพัฒนาไปสู่การมีโครงข่ายข้อมูล (Data Fabric) ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการรวมข้อมูลขององค์กรง่ายขึ้น และจะทำให้ในอนาคตองค์กรสามารถบูรณาการข้อมูลจำนวนมหาศาลให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึก ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายสามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนและตัดสินใจจนนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่คาดหวังไว้ เช่น กำหนดแนวทางและทิศทางการตลาดจากข้อมูลเชิงลึกที่เปิดเผยถึงเทรนด์ของผู้บริโภคในช่วงวิกฤตโควิด เป็นต้น
  4. องค์กรจะสามารถประเมินและคาดการณ์มูลค่าของ AI
    แม้การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment: ROI) ใน AI จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนและมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดเดาได้ยากว่า AI ที่ใช้งานอยู่นั้นสร้างคุณค่าให้กับองค์กรเพียงใด อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้ของ PwC ได้ระบุถึงวิธีการประเมิน ROI แบบใหม่ โดยเปรียบเทียบผลตอบแทนรูปของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นกับต้นทุนของฮาร์ดแวร์ หรือประสบการณ์การทำงานของพนักงานที่ดีขึ้นกับความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นต้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินผลตอบแทนของการลงทุนจาก AI ได้อีกทางหนึ่ง 
  5.  องค์กรจะใช้ AI ในมิติด้าน ESG
    องค์กรจะรู้จักใช้ AI อย่างมีสำนึกรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) มากขึ้น เช่น มีกระบวนการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์จากการทำงานของระบบ ตลอดจนมีการจัดการเรื่องจริยธรรมของ AI และกระบวนการมองหาอคติในข้อมูล โดยจะฝึกอบรมทีมงานให้จัดการกับรูปแบบของการเรียนรู้ของเครื่องจักร และข้อมูลที่อาจมีอคติจากการเหมารวม หรือการใส่ข้อมูลที่มีอคติโดยมนุษย์ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้าน ESG ที่อาจนำไปสู่ปัญหาด้านการบริการ หรือการปฏิบัติการต่างๆ จนส่งผลร้ายแรงต่อธุรกิจ
    นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จาก AI ในการขับเคลื่อน ESG ยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น เช่น การนำ AI มาใช้คาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมข้อควรปฏิบัติเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซในระหว่างการดำเนินงาน เป็นต้น
  6. องค์กรจะมีการกำกับดูแลการใช้ AI
    ในอนาคตองค์กรจะมีหน่วยงานกำกับดูแลด้านข้อมูล AI และคลาวด์แบบครบวงจร โดยกำหนดผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจและผู้ควบคุมการใช้ข้อมูล เพื่อวางแนวทางที่ชัดเจนของการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยทุกฝ่ายงานหลักที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย การตลาด หรือหน่วยงานพัฒนาธุรกิจ จะต้องจัดการและเข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้องค์กรจะมีการติดตามและตรวจสอบกลไกการทำงานของ AI อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาและการใช้งานระบบ AI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง

เราจะเห็นว่าบทบาทของ AI ต่อภาคธุรกิจนั้นจะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการเติบโตของเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น 5G และ IoT จะยิ่งเข้ามาเสริมศักยภาพของ AI ให้ทรงอิทธิพลกว่าเดิม ดังนั้นผู้นำธุรกิจจำเป็นต้องเรียนรู้พื้นฐานของ AI และวิทยาศาสตร์ข้อมูลตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้สามารถกำหนดรูปแบบระบบ AI ที่เหมาะสมกับธุรกิจ และมั่นใจได้ว่ารูปแบบของ AI ที่เลือกใช้นั้นจะสามารถให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจตามที่คาดหวังและสามารถเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลได้อย่างแท้จริง                 

อ้างอิง:

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ทาง The Standard Wealth

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us