Blog

ยกระดับข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านการสร้างมูลค่าให้องค์กรด้วยเทคโนโลยี

ยกระดับข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านการสร้างมูลค่าให้องค์กรด้วยเทคโนโลยี, PwC
  • Blog
  • 5 minute read
  • Oct 03 2023

ยกระดับข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านการสร้างมูลค่าให้องค์กรด้วยเทคโนโลยี

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
30 กันยายน 2566

ท่ามกลางการออกข้อกำหนดใหม่ ๆ ด้านการจัดการและการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) กฎการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกการกำหนดราคาคาร์บอน ภาษีสีเขียว และมาตรการจูงใจต่าง ๆ อีกทั้งกระแสเรียกร้องจากสังคมโลกให้องค์กรต่าง ๆ ต้องมีการดำเนินการที่เข้มข้นเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้ผู้บริหารจำนวนมากเห็นถึงความสำคัญในการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์เพื่อช่วยจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ

ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์จะช่วยให้การจัดทำรายงานความยั่งยืนมีคุณภาพตามมาตรฐานของนักลงทุน อีกทั้งช่วยให้ผู้บริหารทราบผลการปฏิบัติงานก่อนนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วให้กับองค์กร ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถนำข้อมูลมาเปิดเผยหรือช่วยในการแสวงหาโอกาสในการเติบโต ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) ที่มากขึ้น

บทความของ PwC ในหัวข้อ ‘Software for the sustainable enterprise: Going beyond reporting to create business value’ ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์สามประการของข้อมูลด้านความยั่งยืน และสำรวจว่าบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ปรับสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีและแนวทางการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจแต่ละข้อได้อย่างไร ดังนี้

1. เตรียมพร้อมความโปร่งใสในการจัดทำรายงานความยั่งยืน

แนวปฏิบัติในการรายงานความยั่งยืนไม่ได้เพียงแค่พัฒนาไป แต่กำลังถูกพลิกโฉมด้วยข้อกำหนดใหม่ ๆ ที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและขอบเขตในการเปิดเผยข้อมูล และกำลังเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เช่น ข้อบังคับด้านการรายงานความยั่งยืนขององค์กรในสหภาพยุโรป (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินเกี่ยวกับการเปิดเผยด้านความยั่งยืน (IFRS Sustainability Disclosure Standards) ซึ่งข้อบังคับที่ว่านี้ กำหนดให้องค์กรต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัดบางอย่างที่บางองค์กรอาจยังไม่ได้รวบรวมข้อมูลด้วยซ้ำ เช่น ข้อมูลการผลิตไมโครพลาสติกของบริษัท หรือบริษัทอาจต้องขอรับการรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืนจากผู้ตรวจสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ การมีระบบซอฟต์แวร์สำหรับเก็บข้อมูลและประมวลผลที่น่าเชื่อถือ ผู้ตรวจสอบสามารถตรวจสอบได้ทันที จะช่วยลดการดำเนินการในด้านดังกล่าวได้ในระยะยาว บทความของ PwC ฉบับนี้ ยังได้เสนอข้อแนะนำสำหรับองค์กรที่ต้องการเตรียมพร้อมสำหรับข้อบังคับการรายงานประเภทใหม่ที่ผมกล่าวไปข้างต้น ดังต่อไปนี้ 

  • จำกัดขอบเขตให้แคบลง ก่อนที่จะเพิ่มความสามารถด้านเทคโนโลยี องค์กรควรกำหนดหัวข้อด้านความยั่งยืนที่ต้องการจัดการ และรายงานภายใต้ข้อกำหนดใหม่ที่เกี่ยวข้อง โดยประเมินว่าหัวข้อดังกล่าวมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท หรือกิจกรรมของบริษัทมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคมหรือไม่ และเมื่อกำหนดหัวข้อได้แล้ว ก็จะทราบว่าองค์กรจะต้องการระบบเก็บข้อมูล หรือเทคโนโลยีใดมาช่วยเก็บข้อมูล
  • เริ่มจากระบบเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว หลายองค์กรมีระบบการเงินและระบบอื่น ๆ อยู่แล้ว ที่สามารถนำมาช่วยสร้างและจัดการข้อมูลบางส่วนสำหรับการจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งจากสองวิธีดังนี้ คือ หนึ่ง เสริมระบบการเงินที่มีอยู่แล้วด้วยโมดูลและฟังก์ชันเฉพาะด้านความยั่งยืน หรือ สอง จัดทำแหล่งข้อมูลกลางสำหรับข้อมูลด้านความยั่งยืน และติดตั้งระบบการรายงานความยั่งยืนเฉพาะเพื่อช่วยรักษาข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และทำให้ทราบถึงเส้นทางการตรวจสอบของการเปลี่ยนแปลง และการจัดรูปแบบข้อมูลสำหรับการเปิดเผยสู่ภายนอก ตลอดจนการรายงานภายใน
  • แต่งตั้งผู้รับผิดชอบ เมื่อทราบว่าต้องการรายงานข้อมูลด้านใดบ้าง องค์กรจะต้องมีทีมงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของผู้ตรวจสอบ 
  • กำหนดมาตรฐานการทำงาน ทุกทีมที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเข้าใจในการเก็บข้อมูล มีการกำหนดแนวทางการควบคุม และมีทีมตรวจสอบภายในดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรมีการปฏิบัติตามมาตรฐานเช่นเดียวกับการเก็บข้อมูลทางการเงิน 

2. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยข้อมูลด้านความยั่งยืน 

ทั้งนี้ ข้อมูลด้านความยั่งยืน ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้เปิดเผยต่อหน่วยงานภายนอก แต่ผู้บริหารและพนักงานสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อปรับปรุงผลการดำเนินงาน เช่นเดียวกับการใช้ตัวชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจบางแห่งนำข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่รวบรวมจากซัพพลายเออร์ร่วมกับข้อมูลจากบุคคลที่สาม เพื่อระบุส่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของตน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจะนำข้อมูลด้านความยั่งยืนมาใช้นั้นย่อมหมายความว่า ข้อมูลจะต้องได้รับการปรับปรุงและสอดคล้องกับระยะเวลาและทุก ๆ การตัดสินใจ เช่น การจัดสรรทุน หรือการกำหนดงบประมาณโครงการต่าง ๆ ที่รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนอาจพิจารณาเป็นรายไตรมาส ซึ่งตรงจุดนี้ ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็ควรต้องมีการอัปเดตทุก ๆ ไตรมาสด้วย 

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านความยั่งยืนจะต้องมีรูปแบบการนำเสนอที่ทีมงานสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ขณะที่ผู้บริหารก็จะต้องสร้างแนวทาง เป้าหมาย และปัจจัยอื่น ๆ ที่กำหนดเหตุผลการตัดสินใจให้สอดคล้องกับภารกิจสำคัญขององค์กร ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยทางการเงิน เช่น ต้นทุน หรือรายจ่ายเท่านั้น แต่ต้องนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางสังคม เช่น การมีส่วนร่วมของพนักงาน และปัจจัยด้านชื่อเสียงมาพิจารณาร่วมด้วย

3. ใช้ประโยชน์จากศักยภาพในการสร้างมูลค่า

ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลด้านความยั่งยืนเพื่อออกผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น หรืออาจใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น เช่น สภาพภูมิอากาศ เพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับองค์กร เช่น การลงทุน การขยายตลาด การปรับรูปแบบสินค้าและธุรกิจ และการควบรวมกิจการ เป็นต้น

จากการสำรวจที่ผ่านมาของ PwC พบว่า ผู้บริโภคแปดในสิบกล่าวว่า พวกเขาจะยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้ารักษ์โลก แต่สำหรับบริษัทโดยทั่วไปแล้ว การปรับปรุงประสิทธิภาพและชื่อเสียงด้านความยั่งยืนอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในระดับที่ทำให้ต้องเรียกเก็บค่าบริการระดับพรีเมียม ดังนั้น แต่ละธุรกิจจะต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคของตนผ่านการวิจัยหรือเครื่องมืออื่น ๆ เพื่อหาว่าความยั่งยืนด้านใดที่ลูกค้าให้ความสำคัญ และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้พวกเขาตระหนักถึงข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุง 

นอกเหนือไปจากข้อมูลแล้ว เครื่องมือทางเทคโนโลยียังช่วยให้ผู้บริหารจัดสรรทรัพยากรในโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนด้านความยั่งยืน หรือผู้บริหารบางรายอาจนำข้อมูลไปช่วยการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ที่สูงขึ้น 

จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะพบว่ายิ่งองค์กรมองหาโอกาสในการสร้างมูลค่าด้วยการจัดการประสิทธิภาพด้านความยั่งยืน และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อประกอบการตัดสินใจและการสื่อสารต่อสาธารณชนมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การติดตั้งระบบซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีที่ช่วยให้การจัดทำรายงานความยั่งยืนมีประสิทธิภาพ จะช่วยเร่งความก้าวหน้าให้องค์กรมุ่งสู่การสร้างมูลค่าที่เน้นความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญได้

ที่มา:

  1. Software for the sustainable enterprise: Going beyond reporting to create business value, PwC

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ทาง The Standard Wealth

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us