Blog

เปิด 3 แนวโน้มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมท่ามกลางกระแสความต้องการยุค 5G

เปิด 3 แนวโน้มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมท่ามกลางกระแสความต้องการยุค 5G
  • Blog
  • 5 minute read
  • 02 Nov 2023

เปิด 3 แนวโน้มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมท่ามกลาง
กระแสความต้องการยุค 5G

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
31 ตุลาคม 2566

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ โดยรายงานล่าสุด Perspectives from the Global Telecom Outlook 2023-2027: The future on the line ของ PwC ได้ทำการศึกษาแนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ใน 53 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยผมขอนำผลจากการศึกษาที่ได้มาสรุปเป็นสามหัวข้อหลักที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ลูกค้ายังคงเป็นศูนย์กลางท่ามกลางความต้องการใช้ดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้น

รายงานของ PwC คาดการณ์ว่าการบริโภคข้อมูลทั่วโลก (Global Data Consumption) ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมจะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในช่วงระหว่างปี 2565-2570 โดยความต้องการในการรับชมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ (Video) จะนำหน้าปริมาณการใช้ดาต้าในรูปแบบอื่น หรือคิดเป็น 79% ของจำนวนดาต้าทั้งหมดที่จะถูกใช้งาน 9.7 ล้านเพตะไบต์ (Petabytes) ในปี 2570 ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้ดาต้าของคอนเทนต์รูปแบบอื่นรวมกันถึงสามเท่า สำหรับดาต้าการสื่อสารแบบดั้งเดิม ซึ่งเพิ่มขึ้น 104% ระหว่างปี 2561-2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อจำกัดในยุคโควิดและผู้คนที่ทำงานจากที่บ้าน จะเพิ่มขึ้นเพียง 26.8% ในช่วงห้าปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้การบริโภคข้อมูลประเภทเกม (Game) ก็จะมีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน โดยรายงานคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ของปริมาณการใช้ดาต้าที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกม จะเพิ่มขึ้นที่ 21% ระหว่างปี 2565-2570 ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องต่อการเล่นเกมออนไลน์และบนคลาวด์ ในขณะเดียวกัน ความเป็นจริงเสมือน (Virtal Reality: VR) ซึ่งขับเคลื่อนโดยการเติบโตของเมตาเวิร์ส (Metaverse) จะยังคงพัฒนาต่อไป

สำหรับการใช้ข้อมูลเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Cellular Data) จะเป็นประเภทการใช้ข้อมูลที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมี CAGR ที่ 27% ระหว่างปี 2565-2570 ซึ่งพฤติกรรมการใช้ข้อมูลจะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละภูมิภาค เช่น ข้อมูลเซลลูลาร์คาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของการรับส่งข้อมูลทั้งหมดในอเมริกาเหนือ แต่มากกว่า 30% ในเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากการใช้งานอุปกรณ์มือถือในอินเดีย รวมถึงการเปิดตัว 5G ภายในประเทศนี้ กำลังเปิดทางสำหรับการพัฒนาบริการและนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

2. ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง

แม้ว่าการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) มาใช้จะเพิ่มมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม แต่รายได้จนถึงปัจจุบันยังเติบโตไม่มากนักด้วยข้อจำกัดทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน กลุ่มของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับการประมวลผลและเครือข่ายที่ยังไม่รองรับการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำและการเชื่อมต่อตลอดเวลาที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบ IoT ทำให้ปัจจุบันลูกค้าธุรกิจยังไม่สามารถปรับใช้และจัดการกับโซลูชันด้าน IoT ได้เต็มประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องมีระบบนิเวศของพันธมิตร เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซอฟต์แวร์และคลาวด์ ตลอดจนผู้รวมระบบและธุรกิจ มาช่วยกันพัฒนาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและปรับขนาดได้มากขึ้น ซึ่งในห้าปีข้างหน้าคาดว่าจะมีบริษัทสนใจการใช้งาน IoT เพิ่มขึ้นมาก และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

รายงานฉบับนี้คาดว่าจำนวนอุปกรณ์ IoT ที่ติดตั้งทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 1.64 หมื่นล้านเครื่องในปี 2565 เป็น 2.51 หมื่นล้านเครื่องในปี 2570 หรือประมาณ 3 อุปกรณ์สำหรับประชากรทุกคนบนโลก

หากเรามาพิจารณาอุปกรณ์ IoT ซึ่งมีตั้งแต่เซ็นเซอร์ธรรมดาที่อ่านการสั่นสะเทือนของสะพานไปจนถึงกล้องความละเอียดสูงที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการจราจรหรือคนเดินเท้า และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเภทกำหนดความต้องการที่แตกต่างกันบนเครือข่ายในแง่ของการใช้พลังงาน ความเร็ว และเวลาแฝง ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายจึงต้องสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและปรับขนาดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรต้องร่วมมือกับพาร์ตเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญในระบบนิเวศของตน และบริษัทเทคโนโลยี

3. วิวัฒนาการของเครือข่ายกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

รายงานระบุว่า อนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในแง่ของตัวเลือกเครือข่ายสำหรับโทรคมนาคมและลูกค้าที่พวกเขาให้บริการ โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเกือบ 200 รายได้เปิดตัวเครือข่าย 5G และอีกหลายแห่งมีแผนจะเปิดตัวในอีก 12 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งคาดว่า 5G จะกลายเป็นประเภทการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนชั้นนำในปี 2568 ที่มากกว่า 50% ของทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าสองในสามในปี 2570

ในอดีตการใช้จ่ายด้านทุนสำหรับเทคโนโลยีเครือข่ายมือถือรุ่นต่อ ๆ ไป เช่น 4G และ 5G เกิดขึ้นในรอบสิบปี ซึ่งในช่วงปี 2564 และ 2565 ค่าใช้จ่ายในการลงทุนซื้อสินทรัพย์มาเพื่อใช้ในการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุตสาหกรรมลงทุนในการสร้าง 5G ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น 4.2% ในปี 2565 เป็น 319.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า รายงานคาดว่า อัตราการเติบโตของการลงทุนทั้งบรอดแบนด์แบบประจำที่ (Fixed Broadband) และบรอดแบนด์มือถือ (Mobile Broadband) จะลดลงทุกปีจนถึงปี 2570 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้เกิดความระมัดระวังในการลงทุน

 

เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่นอกเหนือจากความท้าทายต่อโมเดลธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงยังมอบโอกาสที่สำคัญให้กับผู้ให้บริการดั้งเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ ขณะที่การลงทุนทั้งในเรื่องของเวลา เงิน การคิดเชิงกลยุทธ์ และทรัพยากร จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นอกจากนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมควรต้องจับมือกับพันธมิตรภายในและภายนอกอุตสาหกรรม อีกทั้งกระชับความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ ลูกค้า และคู่แข่งเพื่อคว้าโอกาสในการเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศ และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโต

ที่มา:

  1. Perspectives from the Global Telecom Outlook 2023–2027: The future on the line, PwC

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ทาง The Standard Wealth

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us