แนวทางการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ตอนที่ 4

ข้อควรระวังในการใช้ใบเสนอราคาที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ (bank quotation)

แนวทางการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ตอนที่ 4 – ข้อควรระวังในการใช้ใบเสนอราคาที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ (bank quotation)
  • Blog
  • 10 minute read
  • 15 May 2024

แนวทางการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ตอนที่ 4 – ข้อควรระวังในการใช้ใบเสนอราคาที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ (bank quotation)

การกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน (financial transactions transfer pricing: FTTP) เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน โดยถึงแม้ว่าธุรกรรมทางการเงินระหว่างบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินกันระหว่างบริษัทในกลุ่ม หรือ การที่บริษัทแม่เป็นผู้ค้ำประกันให้กับบริษัทในเครือที่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์นั้นจะเป็นการดำเนินกิจกรรมปกติทางธุรกิจ แต่การประเมินว่าธุรกรรมทางการเงินระหว่างบริษัทในเครือดังกล่าวดำเนินการอย่างเหมาะสมตามหลักการอิสระ (arm’s length) แล้วหรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องท้าทาย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีแนวปฏิบัติสำหรับ FTTP โดยเฉพาะ

หลากหลายคำถามเกี่ยวกับ FTTP

ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้รับคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับ FTTP รวมไปถึงข้อสงสัยต่าง ๆ อาทิ ราคาโอนของธุรกรรมทางการเงินที่กลุ่มบริษัทใช้อยู่นั้นสอดคล้องกับหลักการ arm’s length หรือไม่ หรือ กลุ่มบริษัทสามารถใช้ใบเสนอราคาที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ (ใบเสนอราคา) มาเป็นตัวเปรียบเทียบสำหรับการศึกษาเปรียบเทียบ (Benchmarking หรือ BM) ตามหลักการการกำหนดราคาโอน (Transfer pricing หรือ TP) ได้หรือไม่

ในบทความตอนที่สี่นี้ เราจะมาหาคำตอบเกี่ยวกับการใช้ใบเสนอราคาทั้งในทางเทคนิคและทางปฏิบัติกัน

ใบเสนอราคาสามารถนำมาใช้เพื่อกำหนดราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงินได้หรือไม่?

ใบเสนอราคาในที่นี้ หมายถึง เอกสารที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ต้องการรับบริการ เพื่อเสนอราคาหรืออัตราของค่าบริการของธนาคาร เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม หรือค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่า บริษัทอาจจะนำราคาที่ระบุในใบเสนอราคานั้นมาใช้ในการกำหนดราคาโอน หรือใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อทำ BM สำหรับธุรกรรมทางการเงินระหว่างบริษัทในเครือ เช่น อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างกัน หรืออัตราค่าธรรมเนียมสำหรับการค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการใช้ใบเสนอราคาในลักษณะดังกล่าวอาจจะสามารถพบเห็นได้ในแวดวงธุรกิจไทย แต่คำถามสำคัญ คือ การใช้ใบเสนอราคานั้นเป็นไปตามหลักการ TP หรือไม่ ซึ่งในการตอบคำถามนี้จะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย

1. บริษัทสามารถใช้ใบเสนอราคาจากธนาคารพาณิชย์ในการกำหนดราคาโอนได้หรือไม่?

เมื่อพูดถึงเรื่องของราคาโอน หลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ หลักการ arm’s length ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่มีความสัมพันธ์กันต้องเข้าทำธุรกรรมและได้รับผลตอบแทน เสมือนรายการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นระหว่างบริษัทที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน

ด้วยหลักการนี้ การใช้ ‘ใบเสนอราคา’ เป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียวเพื่อพิสูจน์ว่า ธุรกรรมระหว่างบริษัทนั้นเป็นไปตามหลักการ arm’s length แล้ว อาจไม่เพียงพอเนื่องจากใบเสนอราคายังไม่ได้เป็นรายการที่เกิดขึ้นจริง เพราะว่าในทางปฎิบัติ บริษัทอาจต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) และอนุมัติเพิ่มเติม ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์จะตกลงเข้าทำธุรกรรมกับบริษัทอย่างเป็นทางการ โดยความเห็นนี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ OECD (ฉบับปรับปรุงปี 2565)

อย่างไรก็ดี หากบริษัทได้รับข้อเสนออย่างเป็นทางการที่ผูกมัดว่า ธนาคารพาณิชย์จะเข้าทำธุรกรรมกับบริษัทในอัตราที่กำหนด (ใบเสนอราคาอย่างเป็นทางการ) เอกสารดังกล่าวอาจจะสามารถนำมาปรับใช้ในฐานะข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ บริษัทยังต้องทำการวิเคราะห์ความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ของธุรกรรม (comparability analysis) เพื่อพิจารณาว่า เงื่อนไขและปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อราคานั้นเหมือนกันหรือไม่ เนื่องจากราคาของธุรกรรมทางการเงินนั้น แปรผันอย่างมีนัยสำคัญตามเงื่อนไขและคุณสมบัติของธุรกรรม ตลอดจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ณ วันที่เกิดธุรกรรม เช่น การที่เศรษฐกิจมหภาคส่งผลกระทบต่อตลาดและอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ดังนั้น ใบเสนอราคาที่ออกเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า อาจไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบทาง TP ได้อย่างน่าเชื่อถือ กับธุรกรรมระหว่างกันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อราคา

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะพิจารณาใช้ใบเสนอราคาในการกำหนดหรือพิสูจน์ราคาโอน ผู้เสียภาษีต้องมั่นใจว่า ใบเสนอราคานั้นมีเงื่อนไขและปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาเหมือนกันกับธุรกรรมระหว่างบริษัทในเครือ

2. สำหรับประเทศไทย การใช้ใบเสนอราคามีความเสี่ยงด้าน TP หรือไม่?

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีข้อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติเฉพาะที่พูดถึง FTTP กล่าวคือ ไม่มีข้อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่อนุญาตหรือสั่งห้ามการใช้ใบเสนอราคา โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ TP ในปัจจุบันของประเทศไทยระบุไว้เพียงแต่ว่า ผู้เสียภาษีจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘แนวทางปฏิบัติของตนเป็นไปตามหลักการ arm’s length’

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับ FTTP เราจึงทำการศึกษาแนวปฏิบัติในต่างประเทศเพื่อประกอบการวิเคราะห์ประเด็นนี้ ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป

ภาพรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ใบเสนอราคาในต่างประเทศ

ข้อมูลด้านล่างนี้รวบรวมแนวปฏิบัติของหน่วยงานด้านภาษีของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ใบเสนอราคา โดยเราได้รวบรวมความคิดเห็นจากทั้งประเทศสมาชิก และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD ทั้งนี้ การพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการใช้ใบเสนอราคานั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละกรณี

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่เป็นสมาชิกของ OECD นั้น จะปฏิบัติตามแนวทางของ OECD ที่ไม่ยอมรับการใช้ใบเสนอราคาเป็นตัวเปรียบเทียบในการพิจารณา TP สำหรับธุรกรรมทางการเงิน ในส่วนของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD ก็ยังพบแนวความคิดที่สอดคล้องกับแนวทางของ OECD

แล้ว...ประเทศไทยจะมีจุดยืนในเรื่องการตั้งราคาโอนอย่างไร?

อนาคต TP ของประเทศไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้เป็นสมาชิก OECD แต่แนวปฏิบัติของ OECD นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎหมายราคาโอนของประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่กฎหมาย TP ของประเทศไทย ล้วนสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ OECD

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ต่อมา ในเดือนเมษายน 2567 ประเทศไทยได้ยื่นใบสมัครขอเป็นสมาชิกของ OECD อย่างเป็นทางการ แม้ว่ากรอบเวลาในการบรรลุสถานะสมาชิกภาพของประเทศไทยจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็สามารถคาดเดาได้ว่ากฎหมายหรือข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ TP ของประเทศไทย จะมีความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของ OECD

จากประเด็นดังกล่าว ทำให้ผู้เสียภาษีหลายรายเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ TP มากกว่าที่เคย และเริ่มทบทวนการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงินภายในกลุ่มของตน รวมถึงพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบาย TP สำหรับธุรกรรมที่ใบเสนอราคาไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบได้ในทางเทคนิค

บทสรุป

ในทางปฏิบัติ แม้ว่าราคาที่ระบุบนใบเสนอราคาอาจถูกนำไปใช้เพื่อตั้งราคาหรือทดสอบ TP ในประเทศไทย ผู้เสียภาษีควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในการดำเนินการเช่นนั้น โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสามารถในการเปรียบเทียบได้ของธุรกรรม ตามแต่สถานการณ์เฉพาะของตน ทั้งนี้ ระดับของความเสี่ยงทางด้านราคาโอน ขึ้นอยู่กับมุมมองของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไทยและความน่าเชื่อถือของเอกสารของบริษัทว่า ใบเสนอราคาดังกล่าวแสดงถึงธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นจริง (actual transaction) และมีเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ที่เหมือนกันกับธุรกรรมระหว่างกันที่กำลังทดสอบหรือไม่

และเมื่อพิจารณาถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของกฎหมาย TP ในประเทศไทย เราเชื่อว่า กรมสรรพากรไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินภายในกลุ่มบริษัท และนำแนวปฏิบัติของ OECD มาปรับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากล

เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง TP ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ใบเสนอราคาที่ยังไม่ใช่ actual transaction ซึ่งทำให้ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ในทางเทคนิค บริษัทจึงควรติดตามกฎหมาย แนวปฏิบัติ และข้อบังคับที่เกี่ยวกับ TP ของประเทศไทย และทำการทบทวนความเหมาะสมของนโยบาย TP รวมไปถึงการจัดทำ BM อย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลอ้างอิง:
[1] OECD Transfer Pricing Guidelines for Multinational Enterprises and Tax Administrations 2022, The Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)
[2] Thailand aiming for OECD membership, Royal Thai Embassy, Washington, D.C
.
[3] Thailand Moves Toward OECD Membership Foreign Office, The Government Public Relations Department

 


ผู้เขียน:

  • นพจารี วัฒนานุกิจ
    ผู้ช่วยหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย
  • ธัญชนก แสงวัฒนะชัย
    ผู้จัดการสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย

 

Click here to read English version

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us