โดย พิสิฐ ทางธนกุล
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
16 กันยายน 2567
ในยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง บทบาทของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) ย่อมมีความสำคัญมากขึ้น โดยจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานในระยะสั้นกับการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยี ด้านบุคลากร การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และการเข้าถึงลูกค้าด้วยวิธีการใหม่ ๆ รวมไปถึงเสริมสร้างรากฐานทางการเงินอื่น ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
รายงานผลสำรวจ 2024 Pulse Survey ฉบับล่าสุดของ PwC ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารและ CFO จาก Fortune 1000 และบริษัทเอกชนกว่า 670 ราย ระหว่างวันที่ 15 ถึง 22 พฤษภาคม 2567 เกี่ยวกับมุมมองของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงแผนกลยุทธ์และลำดับความสำคัญของบริษัท โดยพบว่า:
รายงานของ PwC ระบุว่า 58% ของ CFO กล่าวว่า พวกเขากำลังทุ่มเทเวลาให้กับผลการดำเนินงานทางธุรกิจมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน CFO มากกว่าครึ่งให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินและการวิเคราะห์ (Financial Planning and Analysis: FP&A) และการจัดการผลประกอบการของธุรกิจ รวมไปปัจจัยพื้นฐานด้านการเงินอื่น ๆ เช่น การรายงานทางการเงิน การจัดการความเสี่ยง และการจัดการต้นทุน เป็นต้น
นอกจากนี้พวกเขายังหันมามุ่งเน้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้องค์กรได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น โดย 58% ให้เวลามากขึ้นกับการลงทุนและการดำเนินการด้านเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ 44% กล่าวว่า การเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญมากในการจัดหาเงินทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ แนวทางสำคัญของ CFO คือ ต้องมุ่งเน้นการลงทุนพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น การจัดการการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การลงทุนด้านเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาใช้เพื่อการวิเคราะห์ คาดการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
แม้ว่าจะมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจทั่วโลก แต่รายงานกลับพบว่า มี CFO เพียง 8% เท่านั้นที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีกหกเดือนข้างหน้า เทียบกับ 18% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด และเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า CFO ยังมองเห็นความท้าทายที่สำคัญน้อยลงที่เกี่ยวข้องกับต้นทุน (36%) และการแยกคุณค่าจากเทคโนโลยี (31%) เมื่อเทียบกับผู้บริหารคนอื่น ๆ โดยรวม (42% และ 36% ตามลำดับ)
สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ CFO มากถึงเก้าใน 10 มองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับความสามารถของฝ่ายการเงินเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับอนาคตองค์กร ขณะที่ 44% กล่าวว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ในภูมิทัศน์ที่การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent) กลายเป็นหัวใจสำคัญสำหรับองค์กร รายงานผลสำรวจพบว่า 52% ของ CFO กล่าวว่า การจ้างพนักงานที่มีทักษะที่จำเป็นถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก นอกจากนี้ CFO ยังต้องร่วมมือกับผู้นำองค์กรและทีมผู้บริหารฝ่ายต่าง ๆ ในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร และมุ่งเน้นการสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถในทักษะที่จำเป็น ทั้งในด้านการเงิน และมองถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น กฎระเบียบ และความเสี่ยงทางไซเบอร์ เป็นต้น
คุณผู้อ่านจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน CFO มีบทบาทที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์ การสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ และการมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการใช้เครื่องมือและการลงทุนเพื่อก้าวไปไกลกว่าการจัดการตัวเลขทางการเงินเพื่อดูแนวโน้มของตลาดและลูกค้า รวมถึงการสร้างผลกำไรจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยเหตุนี้ ผู้นำด้านการเงินที่ยังคงไม่ปรับตัวจึงควรต้องหันมาปรับโฟกัสการบริหารตั้งแต่วันนี้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตและก้าวข้ามความท้าทาย รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น
หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ทาง The Standard Wealth
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29