{{item.title}}
{{item.text}}
{{item.title}}
{{item.text}}
ต้องยอมรับว่า วันนี้เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรและส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า กำลังแรงงานไทยมีความพร้อมต่อการเข้ามาของ AI มากหรือน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ผู้นำองค์กรควรปรับกลยุทธ์อย่างไรในการเสริมทักษะให้กับพนักงานเพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเหมาะสม ติดตามได้จากพอดคาสต์ของเรา
อ่านข้อมูลเพิ่มเติ่ม ‘Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey 2023’ และ ‘Thailand snapshots'.
Playback of this video is not currently available
ปิยะณัฐ สวนอภัย
PwC Thailand Spotlight ทุกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก รับฟังได้จากที่นี่
สวัสดีค่ะ ดิฉัน ปิยะณัฐ สวนอภัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
ต้องยอมรับนะคะว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดน่าจะเป็นการใช้งานโซเชียลมีเดีย และตัวอย่างที่ทำให้เรารู้จัก AI มากขึ้นก็คือ แชตบอต (chatbot) หรือล่าสุดก็ ChatGPT ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา และสร้างอิทธิพลให้กับทั่วทุกวงการ ด้วยศักยภาพและความฉลาดล้ำของ AI นี้เอง ที่ทำให้หลาย ๆ องค์กรมีการนำ AI เข้ามาช่วยในงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรือแทนที่การทำงานของบุคลากรบางตำแหน่ง ซึ่งด้วยวิวัฒนาการและศักยภาพของ AI ที่สูงขึ้นนี้ ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและแรงงานในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร รายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 ของ PwC ที่เราเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นและความกังวลของพนักงานทั่วโลก รวมถึงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศไทย เกี่ยวกับการเข้ามาของ AI และแง่มุมของโลกการทำงานอื่น ๆ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ
วันนี้ ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย จะมาเล่าถึงผลสำรวจดังกล่าว และพูดคุยถึงแนวทางและกลยุทธ์ในการปรับตัวและเสริมทักษะกำลังแรงงานที่ทั้งผู้นำองค์กร และพนักงาน สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในสถานที่ทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันค่ะ ซึ่งเราคงไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องนี้ไปได้แล้วนะคะ
สวัสดีค่ะ ดร. ภิรตา
ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์
สวัสดีค่ะ
ปิยะณัฐ
อย่างที่เกริ่นไปเมื่อตอนต้นว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ PwC ได้เปิดเผยผลสำรวจที่ออกมาล่าสุด คือ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับนายจ้างและลูกจ้างในประเทศไทยหลาย ๆ ประเด็น อยากให้ ดร. เล่าให้เราฟังค่ะว่ามีประเด็นไหนที่เป็นไฮไลต์ที่น่าสนใจบ้างคะ
ดร. ภิรตา
รายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 ที่เราเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเลยทีเดียว รายงานนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 50,000 คน ทั่วโลก ซึ่งรวม 1,000 คน ที่เป็นแรงงานไทย วันนี้จะขอเน้นสามถึงสี่ประเด็นที่เกี่ยวกับแรงงานไทยค่ะ
ประการแรก เป็นที่น่าดีใจว่า แรงงานไทยได้ให้คะแนนความพึงพอใจในงานของตน (job satisfaction) ถึง 79% เทียบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีเพียง 57% แสดงให้เห็นว่า แรงงานไทยมีความพึงพอใจในงานของตนสูงสุดในภูมิภาค เรามาเจาะลึกถึงปัจจัยที่มีส่วนทำให้คะแนนความพึงพอใจในงานของแรงงานไทยอยู่ในระดับสูงเช่นนี้กัน
ประเด็นแรกคือ 70% ของแรงงานไทยรู้สึกว่า สามารถเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน สามารถแสดงความคิดเห็น เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเคารพในความคิดเห็น และสามารถแสดงตัวตนได้ ตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีเพียง 52%
ในด้านความเป็นธรรม แรงงานไทย 71% ระบุว่า ผู้จัดการหรือหัวหน้างานปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกับพนักงานทุก ๆ คน เมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีเพียง 53%
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในงาน คือ ความรู้สึกเติมเต็มจากการทำงาน โดย 71% ของแรงงานไทย มองว่า พวกเขารู้สึกเติมเต็มจากการทำงาน และรู้สึกว่าสอดคล้องกับภารกิจส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พนักงานประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้สึกเติมเต็ม ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งระบุว่าพวกเขารู้สึกไม่เติมเต็ม พอได้เห็นผลสำรวจของแรงงานไทยก็เป็นที่น่าดีใจนะคะ
ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่น่าตกใจในเรื่องของ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ (The Great Resignation) หรือ การลาออกของพนักงานจำนวนมาก โดยพบว่า 30% ของแรงงานไทย แสดงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับแบบสำรวจของปีที่แล้วที่มีพนักงานเพียง 13% เท่านั้นที่ระบุว่าต้องการเปลี่ยนงาน จุดนี้จึงอยากเตือนองค์กรต่าง ๆ ว่า แม้ว่าบางองค์กรอาจได้รับคะแนนความพึงพอใจและความผูกพันในงานดีกว่าปีที่แล้วเกือบ 100% แต่ยังคงต้องระวังในเรื่องของพนักงานลาออก เพราะมีหลายครั้งพนักงานอาจจะตอบว่ามีความสุขในการทำงาน แต่พนักงานลาออกยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์กร
ประเด็นที่สาม เรื่องการทำงาน โดยจากผลสำรวจ พบว่า พนักงาน 50% ทำงานเพียงแห่งเดียว ขณะที่อีก 50% ระบุว่า ตนเองทำงานมากกว่าหนึ่งแห่ง แม้ว่าการทำงานมากกว่าหนึ่งแห่งอาจเป็นที่ยอมรับสำหรับบางองค์กร แต่ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการรักษาความลับสำหรับหลาย ๆ องค์กร เนื่องจากพนักงานบางคนอาจใช้อีเมลและเทมเพลตขององค์กรหนึ่งกับอีกองค์กรหนึ่งได้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อน องค์กรจึงจำเป็นต้องดำเนินการบริหารความเสี่ยงเพื่อจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างระมัดระวัง
และประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องของความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งพนักงานประมาณ 50% เห็นว่า บริษัทอาจประสบปัญหาในการอยู่รอดในอีก 10 ปีข้างหน้า หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จในระยะยาวและความยั่งยืนขององค์กร
ปิยะณัฐ
ค่ะ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ ดร. ภิรตา ได้เล่าให้เราฟังเมื่อสักครู่ เราเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับนายจ้างและแรงงาน แต่อย่างที่เกริ่นไปเมื่อตอนต้นนะคะว่าวันนี้จะมาพูดคุยเจาะลึกในเรื่องการเข้ามาของ AI ว่ามีผลกับแรงงานไทยมาก-น้อยแค่ไหน และเมื่อสักครู่ได้ยิน ดร. ภิรตา เกริ่นไว้เล็กน้อยแล้วว่ามีเรื่องความกังวล ความอยู่รอด และการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ รายงานฉบับนี้มีการกล่าวถึงหรือว่ามีการสำรวจเรื่องการเข้ามาของ AI บ้างหรือไม่คะ
ดร. ภิรตา
มีค่ะ เรามีส่วนที่กล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงการนำ AI มาใช้ในการทำงาน ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่นะคะ มีมุมมองเชิงบวก โดยเชื่อว่า AI สามารถช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานได้ ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 47% ยังคงมีมุมมองเชิงบวกในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับ 41% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงคนไทยก็ยังมองว่าการนำ AI เข้ามาจะช่วยสร้างโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการทำงาน และเพิ่มรายได้หรือประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดีที่มองว่าคนไทยค่อนข้างเปิดกว้างและไม่ได้กลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่แรงงาน อย่างไรก็ตาม หากถามคำถามเดียวกันนี้เมื่อสองถึงสามปีที่แล้ว คำตอบคือ คนกลัวว่า AI จะมาทดแทนแรงงาน แต่คำตอบในปีนี้บ่งบอกถึงมุมมองในแง่ดี โดยหลายคนเชื่อว่า AI จะช่วยพวกเขาในการทำงานได้จริง
ปิยะณัฐ
เพราะเหตุใดแรงงานไทยถึงมีมุมมองเชิงบวกกับการเข้ามาของ AI คะ
ดร. ภิรตา
มองว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้หรือการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยในระยะเริ่มต้นนี้ การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีการผสมผสานระหว่างแรงงานคน กับ เครื่องจักร หรือ AI ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่เราต้องทำอยู่อีกมาก จึงเป็นที่มาว่าคนไทยจะค่อนข้างเปิดกว้างในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้มากกว่า เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มองว่าจะต้องไปถึงขั้นระบบอัตโนมัติ หรือกระบวนการที่ครบวงจร (end-to-end) ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเปิดกว้างและอยู่ในระยะเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้
นอกจากนี้ ผลสำรวจ Hopes and Fears พบว่า แรงงานไทยค่อนข้างเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหรือ CEO ในการยกระดับทักษะ (upskilling) รวมถึงการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลต่าง ๆ อีกทั้ง ทางองค์กรจะลงทุนในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ เช่น ระบบคลาวด์ หรือ AI จุดนี้จึงทำให้แรงงานไทยเชื่อมั่นว่า แม้จะมีการนำ AI มาใช้ แต่องค์กรและ CEO จะยังคงช่วยพวกเขาในการเพิ่มพูนทักษะในการใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ปิยะณัฐ
แล้วถ้าเราผ่านช่วงเริ่มต้นของการนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กรหรือในธุรกิจ เป็นไปได้หรือไม่คะว่า AI จะเข้ามาแย่งงานของเรา หรือว่าทำให้เราตกงาน อย่างที่ ดร. ภิรตา บอกว่าในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ พวกเรากังวลกันมากว่า AI จะเข้ามาแย่งงานเรา ทำให้เราอาจจะไม่มีงานทำ ดร. มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นนี้บ้างคะ และในต่างประเทศหรือว่าในบ้านเราเอง มีกรณีศึกษาให้เห็นบ้างหรือยังคะ
ดร. ภิรตา
AI จะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพการทำงานมากกว่านะคะ ไม่ใช่ว่าจะมาแทนที่งาน เพราะว่ายังมีอีกหลายงานที่ต้องใช้มนุษย์ในการทำ เช่น งานที่ต้องการการตัดสินใจที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ การแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือความเป็นมนุษย์ หรือการลดอคติ งานเหล่านี้จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาช่วยอยู่นะคะ เหมือนในอดีตที่เราเคยเห็นการใช้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์มาทดแทนแรงงาน ซึ่งช่วยเสริมให้เราทำงานได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง ลดต้นทุนต่าง ๆ แต่ไม่ได้ทำให้เราตกงาน
เช่นเดียวกับ AI ที่จะมาช่วยในเรื่องของการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนช่วยรวบรวมข้อมูลและตอบคำถามในเบื้องต้น แต่พอได้คำตอบแล้ว มนุษย์ยังจะต้องกลั่นกรองข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นข้อมูลเชิงลึก หรือแผนการที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ นอกจากนี้ งานที่ยังต้องอาศัยการตัดสินใจที่ซับซ้อน ยังคงต้องใช้มนุษย์ทำงานในส่วนนี้อยู่ค่ะ จึงมองว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประหยัดเวลาในการเตรียมงานต่าง ๆ ค่ะ
ปิยะณัฐ
จริง ๆ แล้ว AI สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างที่ ดร. กล่าวไว้ และก็น่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจด้วยเช่นกัน ปัจจุบันคาดว่าหลาย ๆ ธุรกิจน่าจะมีการนำ AI เข้ามาใช้งานบ้างแล้ว จากประสบการณ์ของ ดร. ที่ทำงานร่วมกับลูกค้าไทยหลาย ๆ ราย เคสไหนคะที่มีการนำ AI เข้ามาใช้งานในธุรกิจแล้วสามารถดำเนินการได้สำเร็จ หรือว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานให้เราได้เห็น
ดร. ภิรตา
ตอนนี้ กรณีการใช้งานที่เป็นที่นิยมสำหรับ AI คือ ผู้ช่วยเสมือน (virtual assistant) หรือ แชตบอต หรือ แชตบอตที่มีการพัฒนา (enhanced chatbot)
สำหรับตัวแชตบอตมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในอดีตการใช้แชตบอตต้องถามคำถามเฉพาะเจาะจงเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องและถูกจำกัดไว้เฉพาะภาษาที่เป็นทางการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของ AI ทำให้แชตบอตสามารถประมวลผลภาษาธรรมชาติได้มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบโดยใช้ภาษาพูดที่แตกต่างกันได้
ยกตัวอย่าง ธนาคารได้นำ AI มาช่วยลูกค้าในการค้นหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ลูกค้าสามารถเข้ามาแชตกับ AI โดยให้ข้อมูล เช่น อายุ เงินเดือน ภาระผูกพันที่มีอยู่ ฯลฯ เพื่อให้ AI แนะนำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมที่สุด (ระยะสั้น หรือระยะยาว) หรือบัตรเครดิต โดย AI จะใช้ข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อ หรือ บัตรเครดิตของธนาคาร มานำเสนอข้อดีและคุณสมบัติ เพื่อตอบคำถามให้กับลูกค้าได้ AI จึงทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสมือนจริงเพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ได้อย่างชาญฉลาด
ไม่เพียงเท่านี้ AI ยังสามารถช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายขององค์กรว่า เรามีนโยบายอะไรบ้าง อะไรที่สามารถเบิกได้หรือเบิกไม่ได้ รวมถึงข้อยกเว้นต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง นอกจากนี้ AI ยังอำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ภายในองค์กรด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่ค่ะ
ปิยะณัฐ
AI ดูเหมือนว่าจะเป็นทั้งความหวังและความกังวลของแรงงาน นายจ้างในประเทศไทย และทั่วโลกเช่นกันค่ะ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า AI จะต้องทำงานร่วมกับเรา และเราต้องทำงานร่วมกับ AI อย่างแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ในมุมของธุรกิจเองควรจะต้องวางกลยุทธ์ในการบริหารบุคลากรในโลกที่เต็มไปด้วยดิสรัปชันแบบนี้อย่างไรบ้างคะ
ดร. ภิรตา
อยากจะฝากไว้สี่ถึงห้าประเด็นสำคัญสำหรับองค์กร เพื่อรับมือกับการดิสรัปชันอย่างมีประสิทธิภาพนะคะ
ประเด็นแรก อยากให้นำพนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ส่งเสริมการยอมรับ (buy-in) และพยายามให้พนักงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง หลีกเลี่ยงการออกแบบการทำงานจากผู้บริหารระดับสูง (top-down) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กรเป็นการเปลี่ยนวิถีการทำงาน (way of working) ฉะนั้นการยึดคนเป็นศูนย์กลางจึงเป็นเรื่องสำคัญมากนะคะ
ประเด็นที่สอง ปลูกฝังวัฒนธรรมในการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ในองค์กร ยอมรับความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเรียนรู้อันมีค่า และช่วยให้สามารถแก้ไขความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่สาม อยากให้เน้นในเรื่องความเป็นผู้นำ องค์กรต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลง (transformative leadership) ที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับพนักงาน ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และเข้าใจว่าบุคลากรต้องการอะไรและจะสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไร
ประเด็นถัดไป อยากให้เน้นในเรื่องการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม เพราะมีหลายองค์กรที่นำ AI เข้ามาใช้ แต่กลับเจอปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ การตัดสินใจที่อาจมีอคติ อีกทั้งจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบ AI ได้รับข้อมูลที่เป็นกลาง ไม่มีอคติ เพื่อให้ AI ตอบคำถามได้อย่างยุติธรรมและถูกต้อง
ประเด็นสุดท้ายสำคัญมาก เนื่องจาก AI ทำงานโดยอาศัยข้อมูล จึงอาจจะมีปัญหาเรื่องการส่งผ่านข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล จนเกิดการรั่วไหลของข้อมูล (data leakage) หรือ การรักษาความลับของข้อมูล จึงอยากให้ทางองค์กรอย่ามองแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาข้อควรระวังในเรื่องการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ และการบริหารความเสี่ยงด้วยค่ะ
ปิยะณัฐ
สุดท้ายแล้ว ในฝั่งของแรงงาน เราควรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และต้องมีทักษะด้านใดที่จำเป็นเป็นพิเศษ หรือไม่คะ
ดร. ภิรตา
ในฝั่งของแรงงาน อยากจะฝากกับทุก ๆ คนว่า อยากให้เปิดใจกว้างและอย่ากลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่เรา แทนที่จะชูป้ายประท้วง เรามายอมรับแนวคิดที่ว่า ในที่สุด AI สามารถช่วยเราได้และไม่ได้มาแย่งงานเรา และเราควรสำรวจด้วยว่า สามารถนำ AI มาผสมผสาน (embedded) เข้ากับกระบวนการทำงานของเราได้อย่างไรบ้าง
การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญในการเดินทางครั้งนี้ แน่นอนว่าหลาย ๆ คน คงจะต้องเรียนรู้ตรงนี้ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (data analysis) การนำข้อมูลเข้ามาช่วยทำงาน รวมถึงการเริ่มเก็บข้อมูลให้เป็นรูปแบบดิจิทัลด้วย สิ่งสำคัญคือต้องมีการเตรียมพร้อมทักษะพื้นฐาน เรื่องการคิดวิเคราะห์ และการคิดเชิงตรรกะ เนื่องจาก AI จะเรียนรู้จากการคิดเชิงตรรกะของเราค่ะ
จึงอยากจะฝากถึงคนทำงานว่าอย่ากลัว เปิดโอกาสให้ตัวเอง และพิจารณาว่าสามารถลองเอา AI เข้าไปรวมในงานจุดไหนได้บ้าง แล้วอย่าลืมเพิ่มพูนทักษะตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วยค่ะ
ปิยะณัฐ
จากข้อมูลที่ ดร. ภิรตา นำมาแลกเปลี่ยนให้เราฟัง น่าจะทำให้เห็นว่า เวลานี้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิม ๆ เพื่อให้อยู่รอดในโลกดิจิทัลที่มีดิสรัปชันเกิดขึ้นมากมายได้อีกต่อไป ไม่เพียงธุรกิจเท่านั้นนะคะ มนุษย์หรือแรงงานอย่างพวกเราก็เช่นกันค่ะ การปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปอาจจะช้าเกินไปแล้วสำหรับยุคสมัยนี้ ดังนั้น เราควรจะต้องเร่งปรับธุรกิจ กำลังแรงงานขององค์กร รวมไปถึงตัวของเราเองด้วยค่ะ เพื่อให้เราและ AI อยู่ร่วมกันในโลกของการทำงานได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
วันนี้ต้องขอขอบคุณ ดร. ภิรตา ที่มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับพวกเราทุกคน ขอบคุณมากค่ะ
ดร. ภิรตา
ขอบคุณค่ะ
ปิยะณัฐ
สำหรับคุณผู้ฟังที่ต้องการรับทราบข้อมูลของรายงานผลสำรวจ Asia Pacific Workforce Hopes and Fears Survey ประจำปี 2566 เพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ของเรา www.pwc.com/th หรือติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ PwC ประเทศไทย ได้ทาง LinkedIn, Twitter และ Facebook ค่ะ
และที่สำคัญอย่าลืม กด Like และ Follow เพื่อไม่ให้พลาดพอดคาสต์ซีรีส์ของ PwC Thailand Spotlight ในตอนต่อไป
สำหรับวันนี้ ขอขอบคุณทุกท่านและสวัสดีค่ะ
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29