{{item.title}}
{{item.text}}
{{item.title}}
{{item.text}}
แนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ (Pillar Two) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแค่เรื่องภาษีเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวนการทำงานภายในองค์กรด้วย ดังนั้น บริษัทข้ามชาติจึงต้องศึกษาว่าประเทศที่ตนเองเข้าไปลงทุนจะประกาศใช้ Pillar Two เมื่อใด รวมถึงต้องจัดเตรียมข้อมูลและให้ความรู้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อปรับแนวทางปฏิบัติทางภาษีให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว ติดตามได้จากพอดคาสต์ของเรา
Playback of this video is not currently available
ปิยะณัฐ สวนอภัย
PwC Thailand Spotlight ทุกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก รับฟังได้จากที่นี่
สวัสดีค่ะ ดิฉัน ปิยะณัฐ สวนอภัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทุกครั้งที่เริ่มศักราชใหม่ สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจจะต้องคอยติดตาม นอกเหนือจากแนวโน้มเศรษฐกิจ กระแสเทคโนโลยีใหม่ และแนวโน้มการลงทุนที่จะเกิดขึ้น นั่นก็คือ กฎระเบียบข้อบังคับใหม่ ๆ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนั้น ๆ และหนึ่งในกฎระเบียบทางภาษีที่ภาคธุรกิจไทยกำลังให้ความสนใจอย่างมากในเวลานี้ คือ ‘แนวทางในการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่สำหรับบริษัทข้ามชาติ’ อย่างมาตรการ Pillar Two นะคะ หลักเกณฑ์ข้อนี้เกี่ยวข้องกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) ซึ่งเป็นการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีทั่วโลกให้มีความเท่าเทียมกัน โดยในปีนี้ บางประเทศจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ Pillar Two ค่ะ
แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการ Pillar Two ก็ตาม แต่ผลพวงจากการที่บางประเทศเริ่มใช้มาตรการนี้ จะทำให้บริษัทไทยที่เข้าลงทุนในประเทศที่เริ่มใช้ Pillar Two ได้รับผลกระทบทางด้านภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ
วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ คุณอรวรรณ ผาณิตพจมาน หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย ของ PwC ประเทศไทย ถึงมาตรการ Pillar Two นี้ว่า จะส่งผลกระทบกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของไทยอย่างไรบ้าง แนวทางการบังคับใช้มาตรการ Pillar Two ในไทยคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว และภาคธุรกิจควรเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ อย่างไร
สวัสดีค่ะ คุณอรวรรณ
อรวรรณ ผาณิตพจมาน
สวัสดีค่ะ
ปิยะณัฐ
อยากให้ คุณอรวรรณ ช่วยสรุปให้เราฟังนิดนึงค่ะว่า มาตรการ Pillar Two คืออะไรและธุรกิจประเภทใดบ้างจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้
อรวรรณ
Pillar Two เป็นกฎเกณฑ์ที่ทางองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-Operation and Development: OECD) พัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการถ่ายโอนผลกำไรของบริษัทข้ามชาติ ที่พยายามวางแผนภาษีโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อโยกย้ายกำไรไปยังประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ หรือ ไม่มีการจัดเก็บภาษีเลย ทำให้มีการเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเสีย อันเป็นเหตุให้เกิดการกัดกร่อนของฐานภาษี นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ได้มีการสนับสนุนการลงทุนโดยใช้อัตราภาษีต่ำเป็นแรงจูงใจในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศของตนเองด้วยเช่นกัน
ทาง OECD ได้วางหลักการเพื่อให้การจัดเก็บภาษีทั่วโลกเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดแนวทางการเสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก หรือที่เราเรียกว่า Global Minimum Tax ซึ่งเป็นแนวทางที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติจะต้องเสียภาษีอย่างน้อยในอัตรา 15% ในแต่ละประเทศที่บริษัทเหล่านี้เข้าไปลงทุน หากเสียภาษีดังกล่าวไม่ถึงอัตราขั้นต่ำนี้ จะเกิดภาษีส่วนต่างที่เราเรียกว่า top-up tax โดยหลักการแล้วบริษัทแม่จะต้องนำภาษีดังกล่าวไปเสียในประเทศของตน เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ให้สิทธิประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มบริษัทของตนเองเก็บภาษีก่อน
สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Pillar Two จะเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้รวมตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป (หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท) หากธุรกิจที่รายได้รวมของทั้งกลุ่มไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ก็จะไม่อยู่ภายใต้กฎ Pillar Two ค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นสำหรับองค์กรบางประเภท เช่น องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานราชการ หรือ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งไม่อยู่ภายใต้กฎ Pillar Two เช่นกันค่ะ
ปิยะณัฐ
บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการที่บางประเทศเริ่มใช้มาตรการ Pillar Two แล้ว มากน้อยแค่ไหนคะ
อรวรรณ
ขณะนี้บริษัทข้ามชาติในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นพอสมควรนะคะ เนื่องจากล่าสุดเริ่มมีการประกาศใช้กฎ Pillar Two ทั่วโลก โดยเร็วที่สุด คือ ช่วงต้นปี 2567 นี้
การประกาศใช้กฎ Pillar Two จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไทย (listed company) เป็นหลัก รวมถึงสถาบันการเงินไทยที่มีรายได้รวมเกินกว่า 750 ล้านยูโร บริษัทเหล่านี้จะอยู่ภายใต้กฎ Pillar Two เนื่องจากมีการลงทุนในประเทศต่าง ๆ ที่ได้เริ่มเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Pillar Two แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักการ Income Inclusion Rule (IIR), Undertaxed Payments Rule (UTPR) หรือ Qualified Domestic Minimum Top-up Tax (QDMTT) ทั้งนี้ บางประเทศผ่านร่างกฎหมายแล้ว และรอประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีนี้
ดังนั้น บริษัทข้ามชาติของไทยที่ไปลงทุนในประเทศที่นำกฎ Pillar Two มาใช้ จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว แม้ว่าประเทศไทยตอนนี้จะยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ หากมี top-up tax เกิดขึ้น ประเทศที่อยู่ภายในกลุ่มบริษัทแม่ซึ่งประกาศใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายใน ก็มีสิทธิจัดเก็บภาษีส่วนต่างนี้แทนบริษัทแม่ในประเทศไทย และนำส่งกรมสรรพากรของประเทศตนเอง ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียอำนาจในการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ค่ะ
ปิยะณัฐ
สำหรับประเทศไทยเอง กรมสรรพากรมีนโยบายที่จะนำ Pillar Two มาใช้เป็นกฎหมายภายในบ้างไหมคะ
อรวรรณ
สำหรับประเทศไทยเราเอง กรมสรรพากร ก็อยู่ในช่วงพิจารณาและออกกฎหมายค่ะ โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติในหลักการที่จะนำ Pillar Two มาใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอร่างกฎหมาย Pillar Two ในปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ภายในปีหน้า คือ ปี 2568
นอกจากนี้ ในส่วนของ BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในปีที่ผ่านมา ก็ได้ออกประกาศฉบับหนึ่งที่กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางการเก็บภาษีของ Pillar Two โดยบริษัทข้ามชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว หรือกำลังจะขอรับการส่งเสริมการลงทุน ก็สามารถขอปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ของตนเองได้ โดยเลือกเสียภาษีในอัตรา 10% แทนอัตรา 0% โดยหากเลือกสิทธิดังกล่าวแล้ว ก็จะได้รับการขยายระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสองเท่า สูงสุดไม่เกินสิบปีค่ะ
ปิยะณัฐ
แม้ว่าในประเทศไทยจะยังไม่ได้บังคับใช้มาตรการ Pillar Two แต่บางประเทศก็จะเริ่มใช้ Pillar Two กันในปีนี้ หน่วยงานด้านภาษีขององค์กรจะต้องมีการวางแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างคะ
อรวรรณ
ในส่วนของบริษัทข้ามชาติ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้นำ Pillar Two มาบังคับใช้เป็นกฎหมายภายใน แต่บริษัทข้ามชาติที่มีการลงทุนในประเทศที่มีการประกาศใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายในแล้ว หรือกำลังจะประกาศใช้ ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมพอสมควรนะคะ
ในการเตรียมความพร้อมนี้ บริษัทข้ามชาติจะต้องทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่า การลงทุนในประเทศต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัทของตน มีความเสี่ยงที่จะทำให้การเสียภาษีต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำ 15% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยหากเสียภาษีไม่ถึงตามเกณฑ์อัตราขั้นต่ำนี้ จะทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างอัตรา 15% กับอัตราภาษีที่แท้จริง หรือที่เรียกว่า top-up tax
ทั้งนี้ หากมี top-up tax เกิดขึ้น บริษัทข้ามชาติมีหน้าที่ต้องเปิดเผยทั้งการศึกษาผลกระทบและจำนวนภาษีที่คาดว่าจะต้องเสียไว้ในงบการเงินของตน พร้อมทั้งเตรียมพร้อมที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามหลักการของ Pillar Two
อย่างไรก็ตาม อยากให้คำนึงถึงว่า การยื่นเสียภาษีตามหลักการของ Pillar Two จะแตกต่างไปจากการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกตินะคะ เพราะฉะนั้นบริษัทข้ามชาติจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรและความรู้ค่ะ
ปิยะณัฐ
แล้วฝ่ายงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร ต้องเตรียมตัวสำหรับมาตรการ Pillar Two นี้ด้วยไหมคะ
อรวรรณ
ต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะทีเดียวค่ะ เพราะเราจะเห็นว่า การคำนวณ top-up tax ตามมาตรการ Pillar Two จะต้องใช้ข้อมูลจากหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กรนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางด้านบัญชี ภาษี ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) หรือ ฝ่าย IT ดังนั้น การทำงานของแผนกต่าง ๆ ภายในองค์กรจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้นกว่าเดิม
ตัวอย่างเช่น กรณีที่บางบริษัทมีฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (Business Development: BD) ทำการศึกษาถึงโอกาสในการลงทุนผ่านการซื้อขายและควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจต่าง ๆ ของตนเอง จากเดิมบริษัทข้ามชาติอาจไม่ได้อยู่ภายใต้หลักการ Pillar Two เนื่องจากรายได้รวมทั้งกลุ่มไม่ถึงเกณฑ์ แต่หากฝ่าย BD ศึกษาเกี่ยวกับการซื้อกิจการแล้ว และบริษัทตัดสินใจที่จะซื้อกิจการใหม่เข้ามา ซึ่งส่งผลให้รายได้รวมของกลุ่มถึงเกณฑ์ที่กำหนด คือ 750 ล้านยูโร การเข้าซื้อกิจการนี้ ก็จะมีผลกระทบทำให้องค์กรนั้นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ Pillar Two เช่นกันค่ะ
ปิยะณัฐ
ปัจจุบันมีประเทศใดบ้างคะที่ประกาศใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายในแล้ว หรือเริ่มนำกฎหมายฉบับนี้มาดำเนินการแล้วบ้างคะ
อรวรรณ
ในส่วนของประเทศต่าง ๆ ณ ตอนนี้ เข้าใจว่าบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เช่น บริษัทที่มีบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มเตรียมความพร้อมกันแล้ว เนื่องจากทางญี่ปุ่นจะประกาศใช้ หรือคาดว่าจะประกาศใช้กฎเกณฑ์ Pillar Two หรือหลักการ IIR ประมาณเดือนเมษายนค่ะ ทำให้บริษัทต่าง ๆ จะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการคำนวณ หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อคำนวณ top-up tax ที่อาจเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือบริษัทไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ต่างต้องพิจารณาว่าประเทศที่ตนไปลงทุนกำลังจะบังคับใช้ หรือได้บังคับใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายในแล้วหรือยัง
ตอนนี้มีหลายประเทศที่ได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว และคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในต้นปี 2567 นะคะ ได้แก่ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ประเทศญี่ปุ่น และล่าสุดประเทศเวียดนามได้ประกาศใช้หลักการ IIR และ QDMTT เป็นกฎหมายภายในภายใต้หลักการของ Pillar Two ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทข้ามชาติของไทยที่ลงทุนในเวียดนามจำนวนค่อนข้างมาก จึงขอแนะนำให้มีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมให้เร็วที่สุดค่ะ
ปิยะณัฐ
สุดท้าย อยากให้คุณอรวรรณฝากถึงผู้ประกอบการบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของไทยควรเตรียมความพร้อมอย่างไรสำหรับ Pillar Two ที่บางประเทศจะเริ่มใช้แล้วในปีนี้ พวกเราจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ แล้วผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้เลยทันที หรือควรรอแนวทางจากกรมสรรพากรก่อน
อรวรรณ
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ตอนนี้เราคงต้องพิจารณาว่าแต่ละประเทศที่เราเข้าไปลงทุน ได้ประกาศใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายในแล้วหรือไม่ การรอให้ประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวอาจจะค่อนข้างช้าไป เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เราจะต้องจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นเมื่อประเทศที่เราไปลงทุนประกาศใช้ Pillar Two เป็นกฎหมายภายในแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้ประกาศใช้ก็ตาม
การคำนวณ top-up tax ตามหลักการ Pillar Two จะแตกต่างจากการคำนวณอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate: ETR) ทางด้านบัญชี เพราะหลักการ Pillar Two จะปรับปรุงรายการแต่ละรายการแตกต่างจากการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ
ดังนั้น ผู้ประกอบการข้ามชาติที่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ Pillar Two จึงต้องจัดเตรียมข้อมูล หรือ Data Point ที่ใช้ในการคำนวณ top-up tax รวมถึงจัดเตรียมบุคลากรที่จะมาทำงานในส่วนนี้ และฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับกฎ Pillar Two เพื่อที่จะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการคำนวณภาษีตามกฎดังกล่าวได้อย่างถูกต้องในอนาคตค่ะ
ปิยะณัฐ
คุณผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ข้อกำหนด Global Minimum Tax ของ Pillar Two ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะแค่เรื่องภาษีเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวนการทำงานภายในองค์กรอีกด้วย ซึ่งหากธุรกิจคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้อย่างแน่ชัด ก็ต้องคอยติดตามว่า ประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ จะเริ่มใช้มาตรการ Pillar Two ในช่วงใด และรายละเอียด หรือข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแนวทางปฏิบัติทางภาษีให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าวได้ นอกจากนี้ จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินงานของธุรกิจได้อีกด้วยนะคะ
วันนี้ต้องขอขอบคุณ คุณอรวรรณ มากค่ะที่มาร่วมพูดคุยกับทางรายการ
สำหรับคุณผู้ฟังที่ต้องการรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th หรือติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ PwC ประเทศไทย ได้ทาง LinkedIn, X (หรือ Twitter) และ Facebook ค่ะ
และที่สำคัญอย่าลืมกด Like และ Follow เพื่อไม่ให้พลาดพอดคาสต์ซีรีส์ของ PwC Thailand Spotlight ในตอนต่อไป
สำหรับวันนี้ เราสองคนต้องลาไปก่อน ขอบคุณและสวัสดีค่ะ
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29