{{item.title}}
{{item.text}}
{{item.title}}
{{item.text}}
การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการบัญชีส่งผลกระทบต่อการรายงานทางการเงิน ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท เมื่อเป็นเช่นนี้ การแก้ไขมาตรฐาน IFRS 9 จะส่งผลอย่างไรต่อการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของตราสารหนี้สีเขียว และมีปัจจัยใดบ้างที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงเมื่อลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว ผู้ประกอบการจะสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างไร
ติดตามได้จากพอดคาสต์ของเรา
Playback of this video is not currently available
ปิยะณัฐ สวนอภัย
PwC Thailand Spotlight ทุกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก รับฟังได้จากที่นี่
สวัสดีค่ะ ดิฉัน ปิยะณัฐ สวนอภัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ
อย่างที่เราทราบกันดีว่า มาตรฐานการบัญชี ถือเป็นแนวทางที่นักบัญชีของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ใช้เป็นหลักปฏิบัติในการจัดทำงบการเงินให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้รายงานทางการเงินนั้นได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้น เมื่อมีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี ทั้งในส่วนของมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (หรือ IFRS) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (หรือ TFRS) ในแต่ละครั้ง ฝ่ายการเงินของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องคอยอัปเดตข้อมูลและศึกษาผลกระทบที่มีต่องบการเงินของบริษัท
โดยล่าสุด มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน หรือ IFRS 9: Financial Instruments ได้มีการปรับปรุงแนวทางการประเมินสินทรัพย์ทางการเงินตามหลักเกณฑ์การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น หรือ SPPI ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทที่มีการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว หรือ green bonds ได้
วันนี้ คุณสินสิริ ทังสมบัติ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย จะมาแบ่งปันข้อมูลให้คุณผู้ฟังได้ทราบว่า IFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงินฉบับปรับปรุงใหม่นั้น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และจะส่งผลกระทบต่อการรายงานทางการเงินในประเทศไทยอย่างไร รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบนี้อย่างไรบ้าง เราไปพูดคุยกับคุณสินสิริกันเลยค่ะ
สวัสดีค่ะ คุณสินสิริ
สินสิริ ทังสมบัติ
สวัสดีค่ะ
ปิยะณัฐ
อยากให้คุณสินสิริช่วยอธิบายมาตรฐาน IFRS 9 ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่ามีรายละเอียดหรือประเด็นสำคัญอะไรที่นักบัญชีหรือฝ่ายการเงินของธุรกิจควรต้องทราบบ้างคะ
สินสิริ
ขออธิบายให้ฟังว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board หรือที่เราเรียกกันว่า IASB) ได้ปรับปรุงมาตรฐานฉบับที่ 9 เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหลายประเด็น แต่ประเด็นหลักที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย คือ การประเมินและวิเคราะห์ลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าสินทรัพย์นั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น (Solely Payments of Principal and Interest) หรือในภาษานักบัญชี เราเรียกว่า SPPI
การปรับปรุงครั้งนี้จะช่วยให้มีแนวทางเพิ่มเติมและตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเครื่องมือทางการเงินใดบ้างที่จะถือว่าผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ SPPI
แล้ว SPPI คืออะไร? SPPI เป็นการพิจารณาว่า สัญญาของเครื่องมือทางการเงินหรือสินทรัพย์ทางการเงิน มีลักษณะเป็นการจ่ายเงินตามเงินต้นหรือว่าตามดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของเครื่องมือทางการเงินหรือไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลกระทบต่องบการเงิน
การปรับปรุงแก้ไขนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้การตีความมาตรฐานมีความสอดคล้องตรงกันค่ะ
ปิยะณัฐ
เพราะเหตุใดจึงต้องมีการปรับปรุงแนวทางการประเมิน SPPI ให้มีความชัดเจนมากขึ้นคะ
สินสิริ
ต้องอธิบายว่า การปรับปรุงครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวอย่างและแนวทางเพิ่มเติม เนื่องจากมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาในตลาด หากไม่มีการชี้แจงดังกล่าว การตีความมาตรฐานที่มีอยู่อาจทำให้เกิดความสับสน และความไม่สอดคล้องกันในการประเมินเครื่องมือเหล่านี้
ดังนั้น ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ข้อความเดิมไม่ชัดเจนหรือเขียนได้ไม่ดี แต่เป้าหมาย คือ เพื่อให้ทุกคนสามารถบันทึกบัญชีได้สอดคล้องกัน หากมีเครื่องมือทางการเงินแบบเดียวกัน
ปิยะณัฐ
ถ้าอย่างนั้น อยากให้คุณสินสิริช่วยเปรียบเทียบให้พวกเราเห็นภาพว่า ระหว่างหลักเกณฑ์ในมาตรฐาน IFRS 9 ฉบับเดิมกับหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่มีความแตกต่างอย่างไรบ้างคะ
สินสิริ
ก่อนอื่น ขออธิบายคอนเซปต์เกี่ยวกับการจัดประเภทเครื่องมือทางการเงินนะคะ ในการจัดประเภทเครื่องมือทางการเงิน นอกจากที่จะพิจารณาจากโมเดลธุรกิจแล้ว เรายังต้องศึกษาเกี่ยวกับกระแสเงินสดที่เกิดจากสัญญาด้วย
ขออนุญาตเน้นที่หลักเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงแล้ว โดยเฉพาะที่เราได้พูดคุยกันไปเมื่อสักครู่ว่า เราต้องพิจารณาเงินต้นและดอกเบี้ย มาตรฐานพยายามอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย โดยให้ดูว่าการจ่ายนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงของลูกหนี้หรือของผู้ออกตราสารหรือไม่ หากสะท้อนความเสี่ยงนี้ เครื่องมือทางการเงินก็จะผ่าน SPPI โดยใช้คำว่า ‘basic lending arrangement’ ซึ่งหมายถึง การออกฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อให้เราตรวจสอบว่าการจ่ายดอกเบี้ยอิงตามปัจจัยอื่น ๆ แล้วสะท้อนความเสี่ยงของผู้ออกตราสารหรือไม่
ถ้าเรามองเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น green loan การจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยจะเชื่อมโยงกับค่า ESG ของผู้ออกตราสาร หากเชื่อมโยงกับ ESG แล้วสะท้อนถึงความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร ก็จะสามารถผ่าน SPPI ได้
ถ้าผ่าน SPPI แล้ว โมเดลธุรกิจจะถูกจัดประเภทเป็น amortised cost หรือ fair value through other comprehensive income (FVOCI หรือที่เรียกว่า มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น) ขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักลงทุนเลือกลงทุน แต่หากพิจารณาแล้วว่าเครื่องมือทางการเงินนั้นเชื่อมโยงกับ ESG แต่ไม่สะท้อนถึง basic lending arrangement หรือไม่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร เครื่องมือทางการเงินนั้นจะต้องถูกวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน หรือที่เรียกว่า FVTPL (fair value through profit or loss) ซึ่งหมายความว่า ทุกครั้งที่แสดงงบการเงิน เราจะต้องวัดเครื่องมือทางการเงินนี้ด้วยมูลค่ายุติธรรม
ตัวอย่าง เช่น หากเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เราวัดมูลค่าได้ที่ 100 บาท และในปีถัดไป คือ 31 ธันวาคม 2568 เราวัดได้ที่ 120 บาท ส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น คือ 20 บาท เราก็จะบันทึกยอดนี้ในงบกำไรขาดทุน ถ้าไม่ผ่าน SPPI จะต้องวัดมูลค่าด้วย fair value ซึ่งภาพรวมงบการเงินจะมีลักษณะเช่นนี้ค่ะ
ปิยะณัฐ
มาตรฐาน IFRS 9 ฉบับปรับปรุงนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในบ้านเราเมื่อไรคะ
สินสิริ
ฉบับปรับปรุงนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 สำหรับตัวอย่างเกี่ยวกับ green loan ทางสภาวิชาชีพฯ ได้เขียนบทความไว้ในเว็บไซต์ หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ โดยคลิกไปที่ส่วนของบทความ บทความนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 และมีการแปลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ amendment และ green loan ไว้แล้วค่ะ
ปิยะณัฐ
ฟังดูแล้วการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ในครั้งนี้ น่าจะมีผลต่อการวัดมูลค่าเงินลงทุนของบริษัทต่าง ๆ หากเป็นแบบนี้แล้ว เมื่อมาตรฐานเริ่มมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของธุรกิจด้วยหรือไม่คะ หรือจะมีผลกระทบในมุมอื่น ๆ ที่ธุรกิจควรต้องตระหนักเพิ่มเติมหรือไม่คะ
สินสิริ
หากเรามองถึงผลกระทบ ดิฉันอยากจะขอฝากให้บริษัทที่จัดทำงบการเงินแบบชุดใหญ่ หรือแบบ PAEs (Publicly accountable entities) ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ เพื่อดูว่าจะมีผลกระทบทางการเงินอย่างไร โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าเครื่องมือดังกล่าวผ่าน SPPI หรือไม่
เหตุผลที่สำคัญ คือ หากบริษัทมหาชนไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่ไม่ผ่าน SPPI และต้องวัดมูลค่าด้วย fair value ส่วนต่างที่เป็นตัวเลขแสดงในงบการเงินกำลังสะท้อนถึงภาพการบริหารจัดการขององค์กรหรือไม่ หากเรากังวลว่างบกำไรขาดทุนจะมีความผันผวน เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือทางการเงินตัวนี้ และพิจารณาเครื่องมืออื่นแทน
ดังนั้น เราจึงควรตัดสินใจให้ละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้นก่อนที่จะลงทุนค่ะ
ปิยะณัฐ
ธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจที่ลงทุนในหุ้นกู้สีเขียว หรือ green bond ควรต้องศึกษามาตรฐานบัญชี IFRS 9 ฉบับปรับปรุงนี้ด้วยหรือไม่คะ
สินสิริ
ต้องอธิบายว่า จากมุมมองของบริษัทมหาชน งบการเงินจะสะท้อนภาพการดำเนินงานของธุรกิจอย่างชัดเจน หลายแห่งได้ทำการวิจัยและพบว่า ความผันผวนของงบการเงินจะมีผลต่อราคาหุ้น ดังนั้น การติดตามมาตรฐานฉบับใหม่ ๆ จึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน IFRS 9 หรือมาตรฐานฉบับอื่น ๆ เช่น S1 และ S2 มาตรฐานเหล่านี้กำลังจะเปิดเผยและสะท้อนผลการบริหารจัดการของบริษัท
ดังนั้น ในฐานะของบริษัทมหาชน หรือนักบัญชี หรือซีเอฟโอ จึงจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ว่าผลกระทบที่จะมีต่องบการเงินเป็นอย่างไร เมื่อมาตรฐานมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงกลยุทธ์การบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นได้ค่ะ
ปิยะณัฐ
หลังจากที่เราศึกษามาตรฐาน IFRS 9 ที่มีการปรับปรุงไปแล้ว ประเมินผลกระทบแล้วว่ามีอะไรบ้าง ธุรกิจควรต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับมาตรฐานการบัญชีที่มีการปรับเปลี่ยนไปนี้อย่างไรบ้างคะ
สินสิริ
เรื่องแรกที่ต้องพิจารณา คือ การปรับองคาพยพ เราจะต้องดูว่าผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนและงบแสดงฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร นี่คือปัจจัยแรก
ปัจจัยที่สอง คือ การเปิดเผยข้อมูล ความเพียงพอของข้อมูลที่จะมาใช้แสดงในงบการเงิน เราต้องศึกษาด้วยว่าบริษัทมีการจัดการขั้นตอนเพื่อให้ได้ตัวเลขมาบันทึกได้ทันเวลาที่จะออกงบการเงินหรือไม่
อีกเรื่องหนึ่ง คือ เราต้องดูแลความพร้อมและความเข้าใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยบุคลากรเหล่านี้อาจเป็นผู้ที่ตัดสินใจในการลงทุน เราต้องวิเคราะห์ว่างบการเงินที่ได้สะท้อนภาพที่นักลงทุนหรือผู้ดูแล treasury ต้องการหรือไม่ นอกจากนี้ การสื่อสารก็เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีการศึกษาผลกระทบ และพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงตนเองหรือวิธีการตัดสินใจเพื่อให้สะท้อนตัวเลขในงบการเงินได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ก็ต้องดูเรื่องระบบด้วยว่ามีระบบที่ดีเพียงพอในการจัดทำตัวเลขให้ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีในเวลาที่กำหนดหรือไม่ เช่น มีข้อมูลและระบบที่รองรับหรือไม่
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการบ้านที่เราจะต้องนำมาพิจารณาเมื่อศึกษาผลกระทบจากมาตรฐานการบัญชี โดยที่ต้องเน้นย้ำว่าไม่ใช่เพียงมาตรฐานฉบับที่ 9 เท่านั้น แต่รวมถึงทุกมาตรฐานที่มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องติดตามและศึกษาผลกระทบก่อนที่จะมีผลบังคับใช้จริงค่ะ
ปิยะณัฐ
สุดท้าย อยากให้คุณสินสิริ ฝาก key takeaways เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทจดทะเบียนหรือธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีทั้ง IFRS 9 หรือมาตรฐานการบัญชีอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ
สินสิริ
อย่างแรกเลย คือ ต้องติดตามและอัปเดตข้อมูลว่ามาตรฐานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรค่ะ
อย่างที่สอง คือ ต้องศึกษาผลกระทบ เพราะการติดตามอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เราต้องพิจารณาว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทเราคืออะไร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงบการเงินว่าตัวเลขจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือระบบการทำงานว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร เพราะเราต้องมีการบริหารจัดการที่ดี
เรื่องที่สาม คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบ และต้องสื่อสารผลกระทบเหล่านี้ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงานในระดับใดบ้าง เช่น คณะกรรมการ ผู้บริหาร หรือทีมงานที่ปฏิบัติงาน เนื่องจากหากมีผลกระทบมาก เราจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบและเตรียมการล่วงหน้า
อย่าลืมว่าการปรับปรุงกลยุทธ์หลาย ๆ เรื่องนั้น ไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว อาจต้องใช้เวลา ดังนั้น เราจึงควรรู้ล่วงหน้าและเตรียมการให้ดีเพื่อความปลอดภัยค่ะ
ปิยะณัฐ
จากการพูดคุยกับคุณสินสิริในวันนี้ เราจะเห็นได้ว่าการติดตามหรืออัปเดตการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางการเงินใหม่ ๆ อยู่เป็นประจำ จะช่วยให้ธุรกิจมีเวลาที่จะเตรียมแผนการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ล่วงหน้า หากเกิดกรณีที่การปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีส่งผลกระทบให้ผลกำไรหรือขาดทุนในงบการเงินของบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดความตื่นตระหนกในตลาดได้ในระดับหนึ่งค่ะ
วันนี้ต้องขอขอบคุณคุณสินสิริ ที่มาร่วมพูดคุยกับเรานะคะ
สินสิริ
ขอบพระคุณค่ะ สวัสดีค่ะ
ปิยะณัฐ
และสำหรับคุณผู้ฟังที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th หรือติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ PwC ประเทศไทย ได้ทาง LinkedIn, X และ Facebook ค่ะ
และที่สำคัญอย่าลืมกด Like และ Follow เพื่อไม่ให้พลาดพอดคาสต์ซีรีส์ของ PwC Thailand Spotlight ในตอนต่อไป
สำหรับวันนี้ เราสองคนต้องขอลาไปก่อน ขอบคุณและสวัสดีค่ะ
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29