เจาะเทรนด์ Embedded finance ในระบบนิเวศทางการเงินยุคใหม่

01/02/2023

ปัจจุบัน 'บริการทางการเงินแบบฝังตัว' หรือ 'Embedded finance' กำลังเข้ามา
ดิสรัปผู้ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือธุรกิจประกันภัย ด้วยการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่อย่างผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ 'นอนแบงก์' ที่สามารถให้บริการได้ดีกว่า เร็วกว่า และถูกกว่า ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหรือกลยุทธ์อย่างไรเพื่อสร้าง synergy ให้กับธุรกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมและกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง ติดตามได้จากพอดคาสต์ของเรา 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติ่มที่นี่

Playback of this video is not currently available

21:08

ติดตามพอดคาสต์

แขกรับเชิญ

วิไลพร ทวีลาภพันทอง
หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย
และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์
และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting
Email   |   LinkedIn

ถอดเสียง

ปิยะณัฐ
PwC Thailand Spotlight ทุกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก รับฟังได้จากที่นี่

สวัสดีค่ะ ดิฉัน ปิยะณัฐ สวนอภัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

กระแส ‘บริการทางการเงินแบบฝังตัว’ หรือ ‘Embedded finance’ กำลังเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินเป็นอย่างมาก 

วันนี้เราได้เชิญ คุณวิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงาน PwC South East Asia Consulting มาร่วมพูดคุยถึงความสำคัญของ Embedded finance ที่กำลังดิสรัปผู้ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือกลุ่มธุรกิจประกัน ซึ่งธุรกิจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทตัวเองอย่างไร ต้องวางกลยุทธ์ใหม่เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่อย่างไร และประโยชน์ของบริการนี้ต่อสังคม และกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างคืออะไร วันนี้เราจะมาพูดคุยกันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณวิไลพร


วิไลพร ทวีลาภพันทอง
สวัสดีค่ะ


ปิยะณัฐ
ก่อนหน้านี้ คุณผู้ฟังบางท่านอาจจะเคยได้ยินหรือคุ้นหูกับคำว่า Embedded finance กันมาบ้างแล้ว แต่อยากให้คุณวิไลพรอธิบายให้เราฟังสั้น ๆ อีกสักครั้งค่ะว่า Embedded finance หรือ บริการทางการเงินแบบฝังตัว คืออะไรคะ


วิไลพร
ได้ค่ะ Embedded finance จริง ๆ ต้องบอกว่าอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มากนะคะ จริง ๆ เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย เพียงแต่ว่าตอนนี้เราเห็นเยอะขึ้นในประเทศไทยแล้วก็ทั่วโลกด้วย เป็นเหมือนการให้บริการทางการเงินโดยเอาบริการเหล่านั้นไปฝังตัวอยู่ตามกระบวนการ แพลตฟอร์ม หรือว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) ต่าง ๆ 

ที่ผ่านมาตามที่เราเห็น ก็คือ ธนาคารหรือว่า ธุรกิจประกันจะให้บริการตรงไปที่ลูกค้าเลยนะคะ แต่ว่าตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้จะเป็นลักษณะของการขายแบบ 'Financial Service as a Feature' ไม่ใช่ขายตรง แต่เป็นขายในลักษณะ As a Feature แล้วก็นำฟีเจอร์ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงิน เงินฝาก เงินกู้ หรือประกัน เอาไปฝังตัวอยู่ตามแพลตฟอร์ม อย่างเช่นง่าย ๆ เลยนะคะ ถ้าเราใช้บริการพวก Super App ต่าง ๆ จะเห็นว่า ช่วงหลังนี้เริ่มมีการให้บริการมากกว่าแค่ส่งอาหาร หรือว่ามากกว่าแค่ใช้บริการเมสเซนเจอร์แล้ว แต่จะเป็นในลักษณะว่าหากเมสเซนเจอร์ไปไม่ทันขึ้นมา ก็จะมีการประกันให้ด้วยว่า คุณจะได้แต้มเป็นการชดเชย หรือจะได้เงินชดเชยเท่าไร กรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ของการขายประกันแบบ As a Feature ค่ะ

ลองนึกดูนะคะว่า บริการที่เป็นสถาบันทางการเงินมีเยอะแค่ไหน แต่ละบริการสามารถที่จะเป็นการฝังตัวแล้วก็เพิ่มช่องทางในการขายให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นนี้แหละค่ะที่เป็นหลักการของ Embedded finance คือ การขายในลักษณะ Financial Service as a Feature นะคะ


ปิยะณัฐ
แล้วภายใน Value chain ของ Embedded finance เอง เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกได้เป็นกี่กลุ่มคะ และแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างคะ


วิไลพร
เป็นคำถามที่ดีนะคะ คือ  Embedded finance จะหวังพึ่ง Ecosystem เป็นหลักเลย คือเป็นลักษณะของการขายผ่านบุคคลอื่น ซึ่งในกลุ่มของ Ecosystem เองก็ถือว่าเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งเลย โดยจะแบ่งเป็นสามโมเดลค่ะ 

โมเดลแรกเลยนะคะ เรียกว่า เป็นสถาบันการเงินเข้าร่วมในระบบนิเวศ (Participant) ก็คือว่า สถาบันการเงินแค่เป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ที่คนอื่นสร้างไว้ ซึ่งตรงนี้จะถือว่าง่ายที่สุด เพราะว่าเราแค่เอาฟีเจอร์ไปฝัง แล้วก็ไปกระจาย (Distribute) บริการผ่านแอป แพลตฟอร์ม หรือว่า Ecosystem ของคนอื่น

โมเดลที่สอง ถือว่าสถาบันการเงินร่วมมือกับพันธมิตรในระบบนิเวศ (Orchestrator) ซึ่งตรงนี้สถาบันการเงินไม่ใช่แค่ฝังตัวอย่างเดียว แต่ว่าสามารถที่จะช่วยในเรื่องของการทำกลยุทธ์ของ Ecosystem ว่าใครควรจะมาเป็นพาร์ตเนอร์ใน Ecosystem นี้ ควรจะขายบริการ/ผลิตภัณฑ์ประเภทไหน ซึ่งต่างกับกลุ่มแรก เพราะกลุ่มแรก คือ การนำฟีเจอร์พื้นฐาน (Standard feature) ไปฝังเลย จึงอาจจะไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก เพราะเป็น Ecosystem คนอื่น แต่โมเดลที่สองนี้สถาบันการเงินสามารถที่จะแสดงความเห็นได้ค่ะ แล้วก็สามารถที่จะอย่างน้อยเป็นคู่ค้า (Business partner) กับเจ้าของ Ecosystem ได้

โมเดลที่สาม โมเดลนี้น่าจะมีอำนาจในการควบคุมเต็มที่ เรียกได้ว่า สถาบันการเงินเป็นผู้สร้างระบบนิเวศ (Creator) กล่าวคือ สถาบันการเงินสร้างและเป็นเจ้าของ Ecosystem เองเลย ดังนั้น ด้วยความที่เป็นเจ้าของ Ecosystem จึงสามารถที่จะทำอะไรได้เยอะขึ้น เช่น ออกแบบเลยว่าใครจะเป็นผู้ขายใน Ecosystem นี้ มีผลิตภัณฑ์ลักษณะไหน และจะใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นผู้สร้างเอง หรือเป็นเจ้าของเอง นั่นก็แปลว่า ต้องลงทุนเอง ซึ่งเป็นที่มาว่าโมเดลที่สามนี้ดีนะคะ สถาบันการเงินมีอำนาจในการควบคุมอย่างเต็มที่ (Full control) แต่ว่าก็จะต้องมีการลงทุนเกิดขึ้น ทั้งในด้านเทคโนโลยี เงิน และทรัพยากร โมเดลนี้จะเหมาะกับลักษณะของบริการที่ต้องการออกแบบนวัตกรรมที่ใหม่สุด ๆ เลย ต้องคิดไปทำไป ซึ่งตรงนี้แสดงให้เราเห็นว่าต้องการความเป็นเจ้าของสูง มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถไปกำหนดทิศทาง Ecosystem ของคนอื่นได้ 

ขอเรียนว่าเห็นทั้งสามโมเดลนี้ทั้งในต่างประเทศ และก็ในไทยด้วยนะคะ ซึ่งแต่ละโมเดลก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสถาบันการเงินต้องการที่จะผลักดันบริการไปในลักษณะไหน


ปิยะณัฐ
โมเดลทั้งสามแบบนี้ ตอนนี้แบบไหนที่เป็นที่นิยมของกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินในตลาดบ้างคะ


วิไลพร
จริง ๆ อันนี้ตอบได้สองมุมค่ะ

อย่างแรกคือ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในระยะไหนด้วย ถ้าเป็นแบบเพิ่งเริ่มต้นก็มักจะลองแบบแรกก่อน เพราะเป็นโมเดลที่ง่าย โดยอาจจะมีการจับมือกันขอนำผลิตภัณฑ์ไปขายผ่านแอป แพลตฟอร์ม หรือ Ecosystem ของคนอื่น แล้วสักพัก พอเราเริ่มเห็นแนวโน้ม เห็นโอกาสมากขึ้น หลาย ๆ องค์กรที่พี่เห็นก็เริ่มจะทำมากกว่าแค่ไปเข้าร่วม หรือไปเป็น Participant แล้วนะคะ 

อีกมุมหนึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์เป็นแบบไหน ถ้าบางผลิตภัณฑ์ยังอาจจะจับส่วนแบ่งทางการตลาดได้ไม่ค่อยมาก เราก็รู้สึกว่าเอาผลิตภัณฑ์ธรรมดานี่แหละ ถ้าเราอยากจะขอเน้นปริมาณเป็นหลัก เราก็อาจจะไปกระจายตัวผลิตภัณฑ์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็คือ การไปจับมือ ตอนนี้ศัพท์ที่คนใช้กันทั่วไปคือ ไป x หรือ ร่วมมือ (Collaboration) ก็คือไป x กับพาร์ตเนอร์ให้เยอะขึ้น แล้วก็เอาฟีเจอร์พื้นฐานไปฝังตัวในนั้น ซึ่งในกรณีที่ต้องการเจาะตลาดมากขึ้น แต่ไม่ได้ต้องการที่จะออกผลิตภัณฑ์แบบหวือหวามากนัก อันนั้นก็จะใช้เป็นโมเดลแรกไป 

แต่ถ้าเป็นโมเดลที่สามก็ต้องมีกำลังพอสมควรนะคะ ต้องมีเงินทุน ทรัพยากร และพอร์ตโฟลิโอ หรือไปป์ไลน์ (Pipeline) ของผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าเป็น ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมใหม่ ๆ เยอะนะคะ เพราะว่าเวลาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ บางทีต้องมีการคิดไปทำไป เพราะว่าเราต้องรอตลาดก่อน แล้วก็ต้องมาปรับฟีเจอร์ ซึ่งตรงนั้นทำได้ยาก ถ้าเราไม่ได้เป็นเจ้าของ Ecosystem ด้วยตนเอง และถ้าเราต้องไปขออนุญาตเจ้าของ Ecosystem ก็อาจจะทำให้ช้า แล้วช่วงหลังนี้ก็ต้องทำให้เร็วเพราะว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่ใครเร็วก็จะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดเยอะ ใครออกก่อน ใครนำตลาดได้ก่อนก็จะได้ลูกค้ามากขึ้น เพราะฉะนั้นเลยเรียนต่อว่า คำตอบมีหลากหลายขึ้นอยู่ว่า จะใช้แบบไหน วิธีไหน และเราต้องการปล่อยผลิตภัณฑ์ประเภทไหน กระจายผลิตภัณฑ์ประเภทไหน แล้วเรามีงบประมาณในการลงทุนมาก-น้อยแค่ไหนด้วยนะคะ


ปิยะณัฐ
ฟังดูแล้วโมเดลของ Embedded finance เปิดกว้างสำหรับกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน แต่ทำไมในอีกมุมหนึ่ง Embedded finance ถึงได้สร้างแรงกดดันหรือความกังวลอย่างมากให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการธนาคารหรือว่าธุรกิจประกันคะ


วิไลพร
เพราะว่าตอนนี้ต้องบอกว่าต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้นะคะ แล้วพอเป็นอย่างนั้น เราก็จะเริ่มเห็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และไม่ใช่บริการประกันภัย (Non-FS, Non-banks และ Non-insurance) กระโดดลงมาเล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) จะเห็นเยอะเป็นพิเศษ

เราจะพบว่า Non-banks หันมาทำบริการแบงก์กิ้งเยอะไปหมด เป็นเช่นนี้แล้วหากไปเจอกรณีที่ Non-banksได้ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า ก็เป็นความน่ากลัว เพราะเขาคิดใหม่ทำใหม่ สามารถที่จะออกผลิตภัณฑ์ได้เลย ออกได้เร็วขึ้น แล้วก็จับตลาดได้เลย แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้สเกลของธนาคาร แต่ว่าตรงนี้แหละค่ะเราเริ่มเห็นว่ามีบริการเหล่านี้เยอะขึ้น ก็เป็นความกดดันในแง่ที่ว่า ธนาคารสมัยนี้ดำเนินธุรกิจยากนะคะ เจอคู่แข่งเยอะแยะมากมาย อีกทั้งต้นทุนในการดำเนินงานก็สูง อีกทั้งเต็มไปด้วยข้อจำกัดตามโลกยุคดิสรัปชันที่เปลี่ยนไป จริง ๆ ก็เลยเห็นว่าเป็นแรงกดดันจริง ๆ ดังนั้น ทางกลุ่มธนาคาร กลุ่มประกัน กลุ่มสถาบันการเงิน จึงต้องเริ่มขยับตัวว่าเราจะดำเนินงานในลักษณะไหน เพราะฉะนั้น Embedded finance จึงเป็นหนึ่งในโมเดลที่สถาบันการเงินเลือกทำกัน เพื่อให้ยังคงมีรายได้ เพื่อให้ยังสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ แล้วก็เพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ในการเข้าหาลูกค้า และจริง ๆ แล้วต้องบอกว่าช่องทางในที่นี้ก็คือ ครอบคลุมช่องทางทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็น Ecosystem กลุ่มขนส่ง ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Car riding/Car sharing ที่ต่อไปเราไม่ต้องซื้อรถแล้ว เราก็จะเอาฟีเจอร์เข้าไปฝังในแพลตฟอร์มนี้

กลุ่มท่องเที่ยวตอนนี้หลังโควิดก็จะกลับมาตื่นเต้นกันเหมือนเดิม ก็จะเห็นว่ามีฟีเจอร์อย่างพวกบริการ ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ (Buy-Now-Pay-Later หรือ BNPL) ใช่ไหม ‘บินไปก่อน-ผ่อนทีหลัง’ (Fly Now, Pay Later) หรือว่า ‘บริการบนเครื่องบิน’ (In-flight Service) ที่บนเครื่องตอนนี้ก็จะสามารถซื้อสินค้าได้แล้ว

หรือว่าแม้กระทั่งการฝังฟีเจอร์ใน Ecosystem กลุ่มสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Wellness) นะคะ เนื่องจากช่วงหลังผู้คนหันมาดูแลสุขภาพเยอะมาก ก็จะมีเรื่องของบริการตามความต้องการของผู้ใช้งาน (On-demand Services) ต่าง ๆ

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ามีบริการทางการเงินนี้ไปฝังอยู่ตาม Ecosystem ต่าง ๆ เยอะแยะไปหมดเลยนะคะ ซึ่งจริง ๆ ก็สะดวกกับผู้บริโภคตอนนี้ เพราะแสดงให้เห็นว่าหากต้องการทำบริการอะไรก็ตามเราไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร หรือไปบริษัทประกันอย่างเดียวแล้ว คุณสามารถทำผ่านแพลตฟอร์มพวกนี้ได้เลย ก็จะง่ายขึ้น แล้วก็ได้ประโยชน์กับสถาบันการเงินเองด้วยนะคะ


ปิยะณัฐ
แสดงว่ากลุ่มบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือธุรกิจประกันเองควรจะปรับบทบาทหรือกำหนดกลยุทธ์ตัวเองไปในลักษณะที่คุณวิไลพรบอกว่า ต้องไปเกาะกับ Ecosystem หรือว่ามีพันธมิตรที่เป็นกลุ่มฟินเทค (FinTech) หรือว่าสร้าง Ecosystem ที่สอดรับกับ Embedded finance แบบนี้ ใช่ไหมคะ


วิไลพร
ใช่เลยค่ะ พี่จะบอกว่าการทำกลยุทธ์ตอนนี้ของสถาบันการเงิน ถ้าไม่แตะเรื่องต่อไปนี้แสดงว่ายังไม่ได้ทำจริงจัง อย่างเช่น ในเรื่องของ Partnership strategy หรือ Ecosystem strategy แล้วก็แตะในเรื่องของการหาโมเดลใหม่ ๆ อย่างเช่น Embedded finance เราทำหรือยัง

แล้วจริง ๆ ก็จะไม่ได้มีแค่สามโมเดลที่บอกไปนะคะ จริง ๆ บางทีเราเห็นหนึ่งองค์กรมีทั้งสามโมเดลเลย ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนะคะ เพียงแต่อาจจะแค่ Ecosystem นี้เราใช้โมเดลที่หนึ่ง ถ้าเป็น Ecosystem นี้เป็นโมเดลที่สอง ถ้าเป็น Ecosystem นี้เป็นโมเดลที่สาม ตรงนี้จะเป็นลักษณะการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่เราเห็นเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ

แล้วถ้าไม่นับว่าเป็นเรื่องแลกกัน จับมือเป็นพันธมิตร เพราะนี่เป็นข้อบังคับไปแล้ว ไม่งั้นอยู่รอดยากนะคะ คือจะต้องมีกิจกรรมไป x กันในรูปแบบต่าง ๆ 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากที่เราเห็นก็คือ การจับมือกับใคร และจับมืออย่างไร

แต่การจับมือกับใครอาจจะสำคัญยิ่งกว่าว่า เราเลือกพาร์ตเนอร์ได้ถูกต้องไหม สมมติว่าเราเลือกพาร์ตเนอร์รายนี้จะส่งเสริมกับธุรกิจหรือไม่ หรือบางทีเลือกกับบริการไหนด้วย เช่น BNPL ขอจับมือกับพาร์ตเนอร์รายนี้ ถ้าเป็นเรื่องการชำระเงินอาจจะไปขอเกาะกับพาร์ตเนอร์รายนี้ และถ้าเป็นการให้กู้ยืมเงินแบบดิจิทัล (Digital Lending) ซึ่งตอนนี้จะบอกว่าในประเทศไทยมีเยอะมากนะคะ จะเห็นได้ว่าทุกมุมสามารถกู้เงินได้หมดเลย ไปตรงไหนก็จะมีฟีเจอร์โผล่มา บางทีก็จะมีกู้เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น กู้เฉพาะการท่องเที่ยวอย่างเดียว การศึกษาอย่างเดียว ธุรกิจรายย่อย (SME) ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไปก็คือ สถาบันการเงินอาจจะต้องเลือกนิดนึงว่า จะจับมือกับใคร เรื่องอะไร ด้วยโมเดลแบบไหน อีกทั้งการจับมือกันตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะเห็นว่า การจับมือกันเป็นรูปแบบหนึ่ง แต่หลังจากนั้น ต้องมาดูต่อว่า การทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรทำงานด้วยกันได้ไหม ส่งเสริมกันอย่างไร ซึ่งตรงนี้แหละค่ะ ถ้าเราสามารถทำกลยุทธ์ได้ดี เราก็จะเห็นภาพการจับมือที่ชัดขึ้นโดยมีข้อมูลว่า การจับมือกับรายนี้ เราน่าจะได้ทำงานร่วมกันเรื่องนี้ เราน่าจะได้ลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเราอาจจะยังเข้าไม่ถึง หรือว่าอาจจะได้ข้อมูล (Data) ประเภทนี้ ซึ่งเราไม่เคยมีข้อมูลประเภทนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นพี่บอกได้เลยว่าการเลือกพาร์ตเนอร์ กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพาร์ตเนอร์ และ Ecosystem สำคัญมากนะคะ แล้วก็สักพักเทคโนโลยีก็จะตามมา

บางทีเห็นมีการจับมือเพื่อให้ได้เทคโนโลยีอย่างเดียวก็มีนะคะ เขามีเทคโนโลยี แล้วบังเอิญเราไม่มี หรือเทคโนโลยีใหม่มากในท้องตลาด เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการไปซื้อกิจการแล้ว สิ่งที่สามารถทำได้เลยก็คือ การใช้วิธีการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย เพื่อให้ได้ทรัพยากร แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ Next-gen Tech เข้ามาเสริม

การจับมืออีกอย่างหนึ่งที่นิยมก็คือ จับมือเพื่อให้ได้ข้อมูล ซึ่งเป็นการจับมือที่เยอะจริง ๆ แต่ก็ต้องดูด้วยนะคะว่า การจับมือเป็นแบบ two-way relationship หรือไม่ คือ ต้องได้ทั้งคู่ เพราะฉะนั้นก็ต้องมาดูว่า สถาบันการเงินนอกจากได้แล้ว เราให้อะไรกลับไปที่พาร์ตเนอร์ของเราด้วย จึงเรียนว่าเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์นะคะ แล้วเป็นอะไรที่คงต้องจับมือกันแล้วดูระยะยาวว่าจะอยู่ด้วยกันได้ไหม จะมีรายได้กลับเข้าไปที่ทั้งสองฝั่งได้หรือไม่นะคะ หรืออย่างน้อยเพื่อให้ได้ลูกค้าใหม่ ๆ หรือข้อมูลใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยได้มาก่อน เป็นเรื่องที่ต้องคอยจับตาดูไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ อย่างในท้องตลาดของประเทศไทยเอง เราก็จะเห็นการจับมือเยอะแยะเลย จับข้ามประเทศก็มี ไปจับกับกรุ๊ป กับ Super App หรือไปจับกันเองก็มี บางทีก็เพื่อความอยู่รอด ก็มีการจับมือกันเองในภาคส่วนเดียวกันด้วยเช่นกันนะคะ ขอเรียนว่าเรื่องนี้สำคัญค่ะ และขอย้ำว่าเป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียวสำหรับกลยุทธ์ทางธุรกิจในทุกวันนี้ค่ะ


ปิยะณัฐ
แบบนี้ผู้ประกอบต้องทำอย่างไร หรือว่าตั้งโจทย์แบบไหนกับธุรกิจของตัวเองเพื่อให้เขาจับคู่ Embedded finance ได้ถูกคู่คะ


วิไลพร
พี่ว่าต้องประเมินก่อนค่ะว่า จริง ๆ การจับมือกันอาจจะหมายความว่าเรายังทำไม่ได้ด้วยตัวเอง เราไม่ได้เก่งในด้านนี้ แปลว่าเป็นด้านที่เรากำลังพัฒนา ยังไม่โตเต็มที่นะคะ เพราะฉะนั้นต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มาตอบโจทย์ตรงนี้ เช่น ถ้าเกิดเรารู้สึกว่าด้านค้าปลีก (Retail) เราอาจจะเก่ง แต่เราอาจจะไม่ได้เก่งในด้านการเข้าถึงกลุ่มของคนเพิ่งเรียนจบ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปหาว่าเราจะจับมือกับพาร์ตเนอร์รายไหนที่จะทำให้เราเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ ซึ่งวิธีการเข้าถึงกลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบก็ต้องมีหลายวิธีว่า จะไปจับมือกันตอนเรียนจบแล้ว หรือว่าไปจับมือกันตั้งแต่ก่อนเรียนจบเลยนะคะ

ซึ่งเราจะเห็น Ecosystem ในลักษณะนี้ เช่น Ecosystem ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มก่อนเรียนจบ ไปจับมือกันตอนนั้นเลยตั้งแต่เขายังเป็นนักเรียนปีหนึ่งที่เพิ่งเข้าเรียนนะคะ แล้วก็ปีสอง ปีสาม ปีสี่ หลังจากนั้นบอกว่าจบปุ๊บก็จะใช้บริการต่อไปจนกระทั่งเขาไปแต่งงาน มีลูกคนแรก เติบโตก้าวหน้า เกษียณ อันนี้เป็นช่วงชีวิตของผู้บริโภคเลย จะไล่กันตั้งแต่กลุ่มอายุนะคะ เพราะว่าแต่ละช่วงอายุจะมีความต้องการของบริการที่ไม่เหมือนกัน ช่วงอายุของคนที่ยังเรียนไม่จบก็จะเป็นอย่างหนึ่ง เรียนจบมาก็จะซื้อบ้านหลังแรก รถคันแรกก็จะอย่างหนึ่ง เริ่มมีลูกก็จะอย่างหนึ่ง แล้วต่อไปก็จะอีกอย่างหนึ่งพอฐานะคน ๆ นี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

เพราะฉะนั้นเรานี่แหละค่ะ คงต้องดูก่อนว่า เราต้องการตอบโจทย์จุดไหนของธุรกิจที่อาจจะยังไม่แข็ง หรือบางทีเรามีบริการที่เจ๋งมาก อันนี้เป็นแพลตฟอร์มที่เลิศเลย เป็นฟีเจอร์ที่ดีแต่อาจจะยังทำตลาดได้ไม่ดี ก็เป็นลักษณะของการจับมือว่าใครจะช่วยเรากระจายบริการนี้ Ecosystem ไหนที่เราคิดว่าจะทำให้บริการของเรา หรือฟีเจอร์ของเราที่เจ๋งมาก กระจายออกไปได้ตรงกลุ่มเป้าหมายนะคะ เพราะฉะนั้นจึงขอเรียนว่าคงต้องกลับมาประเมินที่ตัวเราเองก่อน แล้วกลยุทธ์พวกนี้เราเองก็ไม่สามารถลอกกันได้ด้วยนะคะ เพราะว่าสถาบันการเงินแต่ละรายมีจุดอ่อน-จุดแข็งไม่เหมือนกัน โฟกัสก็ไม่เหมือนกันอีก

เพราะฉะนั้น พี่ว่าคงต้องกลับมาประเมินตัวเองก่อนว่า เราต้องการที่จะโฟกัสเรื่องอะไร ความคาดหวังของเราคืออะไร เราต้องการทำรายได้ด้วยไหม หรือต้องการแค่ข้อมูลเพื่อเอาไปต่อยอดอย่างอื่น หรือต้องการเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจึงเรียนว่าแล้วแต่ความต้องการจริง ๆ ก็คือ หาให้ได้ก่อนว่าเราต้องการอะไร แล้วก็ค่อยมาทำเป็นแผนงานก็ได้ค่ะ จากนั้นนำไปต่อยอดเพื่อทำการจับคู่พาร์ตเนอร์ แล้วก็ไปวางแผนตามว่า Ecosystem ไหนที่เหมาะสมด้วย ถ้าไม่มีก็สร้างเองเลยก็ได้นะคะ หากบังเอิญว่าสิ่งที่เราทำมันฉีกแนวมาก ยังไม่มี Ecosystem ไหนที่ตอบโจทย์ได้ ก็สร้างเองได้เลยนะคะ


ปิยะณัฐ
เราน่าจะได้เห็นภาพโมเดลของ Embedded finance ในฝั่งผู้ให้บริการไปแล้วนะคะ กลับมาที่ฝั่งผู้บริโภคกันบ้างค่ะคุณวิไลพร Embedded finance มีประโยชน์หรือว่าผลดีกับการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างไรบ้างคะ


วิไลพร
ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคนะคะ จริง ๆ พวกเราก็จะสัมผัสได้ว่า ช่วงหลังนี้เราสามารถเข้าถึงบริการแบงก์กิ้งหรือบริการประกันง่ายขึ้นใช่ไหมคะ แล้วก็ไม่ใช่แค่ง่ายขึ้นนะคะ มันถูกลง แล้วก็เร็วขึ้นด้วยในหลาย ๆ กรณี เพราะฉะนั้นจริง ๆ เมื่อกดไปตาม Super App ต่าง ๆ แทบจะเห็นบริการทางการเงินฝังตัวอยู่เลย แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ยังไปตาม Ecosystem ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริการขนส่ง บริการท่องเที่ยว หรือว่าบริการสุขภาพค่ะ หรือแม้กระทั่งที่นิยมตอนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ สัตว์เลี้ยง เพราะช่วงหลังนี้คนเริ่มมองว่าสัตว์เลี้ยงไม่ใช่แค่สัตว์ธรรมดา ๆ  แต่สัตว์เลี้ยงเป็นครอบครัว เราก็จะเริ่มเห็นฟีเจอร์ใหม่ ๆ เห็นแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนั้นตามมาด้วยบริการทางการเงิน เช่น การประกันสุขภาพสัตว์เลี้ยง หรือในเรื่องของประกันชีวิตก็มีนะคะ ประกันโรคร้าย และอื่น ๆ 

จะเห็นได้เลยค่ะว่า Embedded finance ทำให้กระบวนการง่ายขึ้น ราคาถูกลง บริการเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ สถาบันทางการเงินก็จะต้องพิจารณาแง่มุมต่าง ๆ ให้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เช่น ผู้บริโภคได้ประโยชน์หรือไม่ นอกจากนี้ Embedded finance ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการได้หลากหลายมากขึ้น และมีตัวเลือกเยอะขึ้นนะคะ เราเลือกใช้ได้เลยว่าอยากจะใช้บริการอันไหนที่เรามองว่าน่าจะให้บริการได้ดี ทันสมัย แล้วก็ถูกลง ผู้บริโภคจึงได้ประโยชน์มากมายจาก Embedded finance อันนี้คอนเฟิร์มเลยค่ะ


ปิยะณัฐ
สุดท้ายอยากให้คุณวิไลพรมองการเติบโตของตลาด Embedded finance ในประเทศไทยว่าในระยะถัดไปทิศทางจะเป็นอย่างไร เพราะจากข้อมูลล่าสุดของ PwC เอง เราจะเห็นว่าตลาด Embedded finance เฉพาะในอเมริกาปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้วก็มีการคาดการณ์กันว่าจะโตเป็นสิบเท่าภายในปี 25681 ค่ะ


วิไลพร
พี่ว่าน่าจะเห็น Embedded finance เยอะขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ ขอแบ่งเป็นสองกลุ่มก็คือ กลุ่มธุรกิจธนาคาร กับ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน นะคะ

ของกลุ่มธุรกิจธนาคารเองจริง ๆ ก็คงจะขยาย Ecosystem ความร่วมมือต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหนก็ตาม แล้วก็พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารทำอยู่แล้ว แล้วก็คงจะทำต่อไปนะคะ

ที่จะเห็นเยอะขึ้นก็คือ ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินกระโดดมาเล่นเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็จริง ๆ ประเทศไทยก็คงจะเริ่มเร็ว ๆ นี้ คือ เราจะเห็นธนาคารรูปแบบใหม่ ๆ ที่ให้บริการแบบดิจิทัลเท่านั้น (Digital-Only Bank หรือ Virtual Bank) นะคะ ซึ่งก็เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้เองก็จะกระโดดลงมาเล่นมากขึ้นในบริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการให้กู้ยืม การชำระเงิน การลงทุน หรือการประกัน ซึ่งก็คงจะเป็นลักษณะที่หาทั้งพาร์ตเนอร์และทำเองด้วย แต่กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น เพราะว่าเหมือนกับการคิดใหม่ทำใหม่ จึงต้องออกผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น จับมือเป็นพันธมิตรแบบเข้มข้นมากขึ้น 

จริง ๆ เราก็เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในตลาดแล้วตอนนี้ แล้วก็อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจธนาคารเลย ไม่ใช่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม และไม่ใช่ธนาคารที่ให้บริการแบบดิจิทัลเท่านั้น ก็กระโดดลงมาเล่นเช่นกัน  ขอเรียนว่าตอนนี้เป็นตลาดที่ไดนามิกสุด ๆ เลยนะคะ เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการทำให้ตลาดกลุ่มนี้พัฒนาได้ แล้วจริง ๆ สักพักเราอาจจะเริ่มเห็นโมเดลใหม่ ๆ มากขึ้นอีกด้วย ต้องลองจับตาดู แต่ขอเรียนว่าทิศทางคือ น่าจะเห็นการเจริญเติบโตจากกลุ่มที่เป็น Embedded finance เยอะขึ้นจริง ๆ ในปีนี้แล้วก็ในปีถัดไป


ปิยะณัฐ
มาถึงตรงนี้ คุณผู้ฟังน่าจะได้ทราบถึงสาระสำคัญของ Embedded finance ที่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ทางการเงิน ที่นำมาทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน จะต้องเร่งปรับตัวและสร้างความแตกต่าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั่นเองค่ะ

ต้องขอขอบคุณ คุณวิไลพร ที่มาร่วมพูดคุยกับทางรายการ และช่วยให้พวกเราได้เห็นถึงเทรนด์ Embedded finance ที่ชัดเจนมากขึ้นนะคะ 

สำหรับคุณผู้ฟังที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th หรือติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ PwC Thailand ได้ทาง LinkedIn, Twitter และ Facebook ค่ะ 

และที่สำคัญอย่าลืม กด Like กด Follow เพื่อไม่ให้พลาด พอดคาสต์ซีรีส์ของ PwC Thailand Spotlight ในตอนต่อไปด้วย

สำหรับวันนี้ ลากันไปก่อน สวัสดีค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. 2022 Retail Banking Monitor: Repositioning for embedded finance, Strategy&

คลิกที่นี่เพื่ออ่านเวอร์ชันภาษาอังกฤษ

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us