ดาวน์โหลดรายงานของเรา
ธุรกิจครอบครัว ถือเป็นกระดูกสันหลังของประเทศไทยมาโดยตลอดเพราะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการฝึกอบรมผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความสำเร็จของพวกเขาในการเอาชนะความท้าทายในยุคความปกติใหม่เกิดจากความไว้วางใจที่แข็งแกร่งซึ่งถูกสั่งสมมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญด้วยกันสามกลุ่ม ได้แก่ ลูกค้า พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว
อย่างไรก็ดี การปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ได้เปลี่ยนวิธีการสร้างและรักษาความไว้วางใจของธุรกิจครอบครัวไทยไปอย่างมาก
ผลการสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวไทยมีผลประกอบการที่ค่อนข้างดีในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดย 59% มีการเติบโตทางธุรกิจและ 14% มียอดขายลดลง ซึ่งดีกว่าปี 2564 ที่ 39% มีการเติบโตทางธุรกิจและ 31% มียอดขายลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลก สถานการณ์ถือได้ว่าเป็นไปในเชิงบวกน้อยกว่าเล็กน้อย
เพื่อรักษามรดกตกทอดของพวกเขาในระยะยาว ธุรกิจครอบครัวจะต้องสร้างความไว้วางใจในรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนแนวปฏิบัติและพิจารณาลำดับความสำคัญใหม่เพื่อเข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักสามกลุ่มที่ว่านี้ นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวไทยยังจำเป็นที่จะต้องสร้างความไว้วางใจกับกลุ่มสาธารณชนทั่วไปด้วย
รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ครั้งที่ 11 ฉบับประเทศไทย ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 2,043 รายใน 82 ประเทศและอาณาเขตรวมถึงผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยจำนวน 44 รายในช่วงระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ถึง 22 มกราคม 2566
รูปที่ 1: การเติบโตของธุรกิจครอบครัวไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า
*คำถาม: เมื่อมองย้อนกลับไปในปีงบประมาณที่ผ่านมา คุณคิดว่ายอดขายของคุณ: **คำถาม: ข้อใดต่อไปนี้อธิบายความมุ่งหวังของบริษัทของคุณในอีกสองปีข้างหน้าได้ดีที่สุด?ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ธุรกิจครอบครัวไทยมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตและการขยายตลาด
ระดับความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักส่งผลดีต่อธุรกิจครอบครัวไทย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจครอบครัวไทยจะต้องปรับปรุงการรักษาความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเนื่องจากมีเพียง 23% ของผู้ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขามีความก้าวหน้ามากในการใช้ระบบเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของลูกค้า (เปรียบเทียบกับ 34% ทั่วโลก) ในขณะเดียวกัน มีเพียง 20% ที่กล่าวว่า มีความไว้วางใจในระดับสูงระหว่างสมาชิกในครอบครัวนอกธุรกิจ และสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจ (เปรียบเทียบกับ 40% ทั่วโลก)
รูปที่ 2: ธุรกิจครอบครัวไทยยังไม่ได้ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อสร้างความไว้วางใจ
คำถาม: ข้อใดต่อไปนี้อธิบายการดำเนินการของบริษัทของคุณในประเด็นเหล่านี้ได้ดีที่สุด? *Diversity, equity and inclusion คือ ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
ตัวเลขข้างต้นชี้ให้เห็นว่า แม้ระดับความไว้วางใจในประเทศไทยจะสูงและอยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ธุรกิจครอบครัวไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความไว้วางใจ หากดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยังมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงเพื่อสร้างความไว้วางใจในประเด็นต่าง ๆ เช่น การผนวก ESG เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล และความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม (Diversity, equity and inclusion: DEI)
รายงานระบุด้วยว่า ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถพึ่งพามรดกตกทอดของตนเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เนื่องจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในปัจจุบันมีมุมมองและความคาดหวังถึงสิ่งที่สร้างความไว้วางใจที่แตกต่างกัน และลำดับความสำคัญของพวกเขาก็กำลังเปลี่ยนไป
ที่มา: บทวิเคราะห์ของ PwC
แต่การสร้างความไว้วางใจนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการทบทวนแนวปฏิบัติ นโยบายและการกำกับดูแลเพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจครอบครัวไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้าง ปกป้อง และรักษาความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของพวกเขา รายงานของเราเจาะลึกถึงการดำเนินการที่จำเป็นต่อการสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว
ลูกค้า คือ เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงธุรกิจครอบครัวและความต้องการของพวกเขาย่อมส่งผลต่อวิธีการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัวเสมอตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการบริการ ทั้งนี้ 48% ของธุรกิจครอบครัวไทยที่ตอบแบบสำรวจ วางแผนที่จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มความจงรักภักดีของลูกค้า (เช่นเดียวกับทั่วโลกที่ 42%) สะท้อนให้เห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาลูกค้าให้กลับมาซื้อสินค้าและบริการอยู่เรื่อย ๆ เพราะนอกจากลูกค้าที่ภักดีมีแนวโน้มที่จะซื้อหรือใช้สินค้าและบริการซ้ำแล้ว พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะสนับสนุน หรือแนะนำแบรนด์ที่พวกเขาไว้วางใจให้กับลูกค้าใหม่อีกด้วย
รูปที่ 3: การเพิ่มความจงรักภักดีของลูกค้า ถือเป็นลำดับความสำคัญอันดับที่สองของธุรกิจครอบครัวไทยในอีกสองปีข้างหน้า
คำถามที่ 22 ข้อใดต่อไปนี้ คือ สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดห้าอันดับแรกในช่วงสองปีข้างหน้า? ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
ในยุคที่ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่สำคัญของสังคม พฤติกรรมของผู้บริโภคยังนำเรื่องของความยั่งยืนมาเป็นข้อควรพิจารณาเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการอีกด้วย ซึ่งจากรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเชิงลึกทั่วโลก ประจำปี 2566 ของเราที่ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคจำนวน 9,180 รายใน 25 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยพบว่า มากกว่า 70% ของผู้บริโภคทั่วโลกยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีหลักปฏิบัติด้านจริยธรรม
ในรายงานผลสำรวจฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า 76% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง ขณะที่ 78% ของคนทำงานบ้านเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การปลูกฝังความไว้วางใจเกี่ยวกับความยั่งยืนต้องอาศัยการบูรณาการแนวปฏิบัติด้าน ESG เข้ากับธุรกิจผ่านการสื่อสารถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อลูกค้า อย่างไรก็ดี ธุรกิจครอบครัวไทยที่ตอบแบบสำรวจจำนวนมากยังคงแสดงความสนใจต่อประเด็น ESG อยู่ในระดับต่ำ
รูปที่ 4: ธุรกิจครอบครัวไทยหลายแห่งยอมรับว่า ESG และ DEI ไม่ใช่จุดสนใจ
คำถามที่ 11 ข้อใดต่อไปนี้อธิบายการดำเนินการของบริษัทของคุณได้ดีที่สุดในด้านต่าง ๆ เหล่านี้? ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
จากผลสำรวจพบว่า มีธุรกิจครอบครัวไทยเพียง 5% เท่านั้นที่เห็นด้วยและมีการสื่อสารเรื่อง ESG ต่ำกว่าทั่วโลกที่ 15% ในขณะที่มีเพียง 18% เท่านั้นที่มีคำแถลงเป้าประสงค์และความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการพัฒนา DEI ให้เกิดความก้าวหน้า สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ยังขาดความเป็นผู้นำในการผลักดันประเด็นดังกล่าวทั้งสองด้าน
ทั้งนี้ ESG และ DEI มีความสำคัญต่อผู้บริโภค เนื่องจากพวกเขามีจิตสำนึกต่อสังคมเมื่อต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง หรือมีคุณค่าด้านจริยธรรม โดยการมีความมุ่งมั่นด้าน ESG และ DEI ที่ชัดเจนสามารถสร้างมุมมองเชิงบวกซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจกับลูกค้าใหม่ รวมถึงการรักษาความไว้วางใจกับลูกค้าเดิมที่มีอยู่
อย่างไรก็ดี มีเพียง 28% ของธุรกิจครอบครัวไทยเท่านั้นที่สื่อสารเป้าประสงค์ของบริษัทต่อภายนอกอย่างแข็งขัน สูงกว่าธุรกิจครอบครัวทั่วโลกเล็กน้อยที่ 21% นี่ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า ผู้นำธุรกิจครอบครัวควรต้องรีบดำเนินการสื่อสารเป้าประสงค์ขององค์กรให้เป็นคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของพวกเขา
รูปที่ 5: ธุรกิจครอบครัวไทยเพียง 25% เท่านั้นที่มีความสามารถด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ต่ำกว่าทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญที่ 42%
คำถามที่ 30 คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพียงใดที่... คำถามที่ 22 ข้อใดต่อไปนี้ หากมี คือ ห้าภารกิจอันดับแรกที่บริษัทให้ความสำคัญในอีกสองปีข้างหน้า ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานและใช้ข้อมูลเพื่อปรับแต่งประสบการณ์ที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจครอบครัวไทยเข้าใจถึงความสำคัญของการปรับองค์กรของตนให้เป็นดิจิทัล แต่ยังขาดความสามารถด้านดิจิทัลเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ ทั่วโลก
หนึ่งในสี่ของธุรกิจครอบครัวไทยที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขามั่นใจในความสามารถด้านดิจิทัลของตน แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปถึงลำดับความสำคัญหลักของธุรกิจ มีเพียง 27% ของธุรกิจครอบครัวไทยเท่านั้นที่กล่าวว่า การปรับปรุงความสามารถด้านดิจิทัล ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ต่ำกว่าธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ 44%
นอกจากนี้ ธรรมาภิบาลข้อมูล (Digital governance) ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการปรับปรุงเห็นได้จากรูปที่ 4 ของรายงานที่ระบุว่า 27% ของธุรกิจครอบครัวไทยมีการปกป้องและสื่อสารอย่างแข็งขันเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล ในขณะที่มีเพียง 14% เท่านั้นที่ตอบสนองต่อข้อมูลหรือการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองตัวเลขอยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับทั่วโลกที่ 29% และ 27%
จากรายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางดิจิทัล ประจำปี 2566: มุมมองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ PwC ธุรกิจต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคควรให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและหลักปฏิบัติด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอย่างรวดเร็วผ่านการบูรณาการความคิดและประยุกต์ใช้เครื่องมือที่คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเป็นอันดับแรกเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจของลูกค้า ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวที่มีความมั่นใจในการจัดการข้อมูลและความเป็นส่วนตัวจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น และสร้างความไว้วางใจที่แข็งแกร่งกับลูกค้าได้
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจด้วย คือ พนักงาน ธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้รับและเสริมสร้างความไว้วางใจกับพนักงานจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเช่นกัน ดังนั้น ความเชื่อใจจึงต้องเริ่มขึ้นจากภายในองค์กร
รูปที่ 6: ธุรกิจครอบครัวไทยน้อยกว่าครึ่งกล่าวว่าการได้รับความไว้วางใจจากพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ต่ำกว่าทั่วโลกที่ 68%
คำถามที่ 26 การที่บริษัทของคุณได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปนี้มีความสำคัญเพียงใด? ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
แม้ว่า 53% ของธุรกิจครอบครัวไทยเชื่อว่าพวกเขาได้รับความไว้วางใจอย่างเต็มที่จากพนักงาน แต่มีเพียง 43% เท่านั้นที่รู้สึกว่าการได้รับความไว้วางใจจากพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกที่ 68% แม้ว่าตัวเลขจะสะท้อนว่า มีระดับความไว้วางใจที่มั่นคงระหว่างธุรกิจครอบครัวและพนักงาน แต่หากพิจารณาลึกลงไป ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากหากต้องการเสริมสร้างความไว้วางใจกับพนักงาน
รูปที่ 7: น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจครอบครัวไทยสื่อสารเป้าประสงค์ของบริษัทอย่างกระตือรือร้นเป็นการภายใน
คำถามที่ 14 ข้อใดต่อไปนี้เป็นจริงตามเป้าประสงค์ของบริษัทของคุณ? คำถามที่ 15 การดำเนินการในข้อใดต่อไปนี้ หากมี เพื่อให้ธุรกิจครอบคัวทำตามเป้าประสงค์และคุณค่าประจำทุกวัน ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
ธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องสื่อสารเป้าประสงค์และค่านิยมของบริษัทอย่างกระตือรือร้นเป็นการภายใน หากพวกเขาต้องการรักษาและสร้างความไว้วางใจกับพนักงาน ทั้งนี้ 73% ของธุรกิจครอบครัวไทยอ้างว่า มีเป้าประสงค์ของบริษัทที่ชัดเจน แต่มีเพียง 38% เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขามีการสื่อสารเป้าประสงค์เป็นการภายในอยู่เป็นประจำ ในขณะเดียวกัน มีเพียง 34% ของธุรกิจครอบครัวไทยเท่านั้นที่ผนวกค่านิยมและเป้าประสงค์ของบริษัทให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินและให้รางวัล
นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวไทยควรปรับปรุงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้าน ESG ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของพนักงานที่ต้องการความโปร่งใสมากขึ้นในการจัดการกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัท
รายงานผลสำรวจความหวังและความกลัวของแรงงานทั่วโลก ประจำปี 2565 ของ PwC พบว่า 23% ของพนักงานทั่วโลกระบุว่า บริษัทของตนมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และพนักงานต้องการการสนับสนุนเพื่อบูรณาการแนวปฏิบัติด้าน ESG เข้ากับงานของตน สอดคล้องกับตัวเลขของประเทศไทยที่พบจากรายงานผลสำรวจฉบับนี้ที่ระบุว่า มีเพียง 18% ของธุรกิจครอบครัวที่มีบุคคล หรือทีมที่อุทิศตนเพื่อวาระด้าน ESG ซึ่งต่ำกว่าทั่วโลกอย่างมากที่ 43% ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการริเริ่มด้าน DEI จะช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรผู้มีความสามารถไว้ได้ ขณะที่พนักงานจะชื่นชมบริษัทที่ส่งเสริมการเป็นสถานประกอบการที่ไม่แบ่งแยกซึ่งพวกเขารู้สึกว่าถูกมองเห็นและมีคุณค่า
นอกจากนี้ การสร้างกลไกสำหรับความรับผิดชอบ ยังมีความสำคัญต่อการรักษาความไว้วางใจ เพราะช่วยให้พนักงานมีสิทธิ์มีเสียงภายในองค์กร จากการสำรวจธุรกิจครอบครัวไทยพบว่า น้อยกว่าครึ่ง หรือ 47% มีกระบวนการภายในสำหรับพนักงานในการอุทธรณ์ หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร น้อยกว่าทั่วโลกเล็กน้อยที่ 57% สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีช่องว่างในการปรับปรุงเพื่อให้เกิดกลไกความรับผิดชอบแก่พนักงานธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย
รายงานผลสำรวจของเราแสดงให้เห็นว่า 72% ของธุรกิจครอบครัวไทยมีความไว้วางใจระหว่างสมาชิกในครอบครัวในระดับสูง เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ 74% อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีมุมมองหรือความเชื่อที่แตกต่างหรือขัดแย้งกัน ซึ่งอาจทำลายความไว้วางใจที่ได้สร้างไว้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
ผลการสำรวจยังชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยมักเลือกที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกันเองภายในครอบครัว (49%) และพูดคุยประเด็นปัญหาอย่างเปิดเผยกับสมาชิกในครอบครัว (41%) อย่างไรก็ดี มีเพียง 18% เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขาใช้กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพื่อแก้ไขข้อพิพาทในครอบครัว
รูปที่ 8: ความขัดแย้งส่วนใหญ่ถูกจัดการภายในครอบครัวโดยตรง แทนที่จะใช้กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
คำถามที่ 32 คุณจะพูดว่าความขัดแย้งในครอบครัวในธุรกิจเป็นสิ่งที่: คำถามที่ 33 ข้อใดต่อไปนี้ (ถ้ามี) อธิบายว่าความขัดแย้งในครอบครัวถูกจัดการอย่างไรในบริษัทของคุณ? ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
ทั้งนี้ การจัดการกับความขัดแย้งถือเป็นความท้าทาย ยิ่งเมื่อธุรกิจครอบครัวไม่มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นทางการ รวมถึงข้อตกลงผู้ถือหุ้น ธรรมนูญครอบครัวและโพรโทคอล และแม้กระทั่งพินัยกรรม รายงานผลสำรวจของเราพบว่า มีเพียง 52% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยเท่านั้น ที่มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจนหรือเป็นทางการ โดยการขาดโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นทางการนี้ อาจนำไปสู่การถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีเป้าประสงค์หรือคุณค่าจากสมาชิกในครอบครัว และส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอื่น ๆ ได้
เมื่อขาดค่านิยมและเป้าประสงค์ของครอบครัว การสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็มักจะย่ำแย่ลงตามไปด้วย ก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับทิศทางของบริษัท
นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวบางกลุ่มยังไม่ได้รับความไว้วางใจในระดับที่เท่ากัน รายงานผลสำรวจของเราพบว่า สมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่ไทย (ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 21 – 38 ปี) ได้รับความไว้วางใจต่ำกว่า (20%) เปรียบเทียบกับทั่วโลกที่ 43%
สำหรับผู้นำรุ่นปัจจุบันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะละทิ้งธุรกิจของพวกเขา ในรายงานผลสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ประจำปี 2565 ฉบับประเทศไทย พบว่า 57% ของผู้นำรุ่นใหม่ (NextGens) ไม่คิดว่าผู้นำรุ่นปัจจุบันจะเกษียณในเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ 43% เชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้นำรุ่นปัจจุบัน ทั้งนี้ การอนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวที่อายุน้อยกว่าได้มีส่วนร่วมในการรับบทบาทความเป็นผู้นำจะช่วยเตรียมพวกเขาให้เป็นเจ้าของกิจการที่มีความรับผิดชอบในท้ายที่สุด และทำให้มั่นใจว่าธุรกิจครอบครัวจะอยู่รอดต่อไปได้
รูปที่ 9: สมาชิกในครอบครัวบางกลุ่มได้รับความไว้วางใจในระดับต่ำ
คำถามที่ 27 คุณจะพูดว่ามีความไว้วางใจแค่ไหนระหว่างสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการและสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในคณะกรรมการ? คำถามที่ 36 คุณจะพูดว่ามีความไว้วางใจแค่ไหนระหว่าง: ที่มา: รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวประจำปี 2566 ของ PwC
การขาดความไว้วางใจสำหรับสมาชิกในครอบครัวบางกลุ่มและบุคคลภายนอกยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัท (Board diversity) รายงานผลสำรวจของเราพบว่า ธุรกิจครอบครัวไทยมากถึง 71% มีสมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่เข้าร่วมในคณะกรรมการของบริษัท หรือคิดเป็นเกือบสองเท่าของธุรกิจครอบครัวทั่วโลกที่ 36% ทั้งนี้ หากองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าได้ เนื่องจากไม่มีสมาชิกที่สามารถนำมุมมองใหม่ ๆ มาสู่ตัวธุรกิจ
การจัดการความไว้วางใจโดยใช้แนวทางเดิม ๆ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้นำครอบครัวว่าจะลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองต่อลำดับความสำคัญของลูกค้า พนักงาน และสมาชิกในครอบครัวที่มีความต้องการและความคาดหวังที่แตกต่างกันถึงสิ่งที่สร้างและรักษาความไว้วางใจได้อย่างไร
ทั้งนี้ มีหลักสามประการที่ธุรกิจครอบครัวไทยควรดำเนินการเพื่อสร้างความไว้วางใจและนำความยั่งยืนมาสู่ธุรกิจของพวกเขา ดังต่อไปนี้
ทั้งนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ข้อความสำคัญของรายงานฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจครอบครัวไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อสร้างความไว้วางใจผ่านการสื่อสารที่มีความต่อเนื่องและชัดเจน การเพิ่มพลังเสียงในองค์กร และการสานต่อเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลกับลูกค้า พนักงาน และสมาชิกในครอบครัว
“การเปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย จะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจและนำความยั่งยืนมาสู่กิจการ เพราะจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเห็นมุมมองที่แตกต่าง และสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้กับองค์กรได้”
รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัว เป็นรายงานผลสำรวจที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจมุมมองของธุรกิจครอบครัวต่อประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้ เราสำรวจผู้บริหารธุรกิจครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น 2,043 รายจาก 82 ประเทศและอาณาเขต รวมถึงผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยจำนวน 44 ราย
Sinsiri Thangsombat
Entrepreneurial and Private Business Leader, Assurance Partner, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000