ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา บริษัทประกันภัยต่างได้เตรียมความพร้อมสำหรับการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศที่ออกในเดือนพฤษภาคม 2017 (IFRS 17) มาปรับใช้ เนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานทางการเงินหลายๆอย่างของบริษัท เช่น การพิจารณารับประกันและกำหนดราคากรมธรรม์ประกัน (underwriting pricing) การขายและการตลาด ในการนี้บริษัทประกันภัยจึงได้นำเทคโนโลยีคลาวด์ มาใช้อย่างต่อเนื่องและเพิ่มการลงทุนมากขึ้น ในด้านวิศวกรรมระบบข้อมูล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบ เมื่อไม่นานมานี้เพื่อที่จะให้องค์กรมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับกฎระเบียบใหม่และมีความทันสมัยมากขึ้น บริษัทประกันภัยบางแห่งยังได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการปรับใช้แอปพลิเคชั่น และโซลูชันต่าง ๆ โดยการแทนที่การใช้ระบบจัดการข้อมูลแบบ onsite ซึ่งตัวระบบถูกติดตั้งและบำรุงรักษา ณ สถานที่ที่ปฏิบัติการ ด้วยระบบที่มีโครงสร้างแบบคลาวด์และซอฟต์แวร์บนคลาวด์ (SaaS) จากผู้บริการภายนอกแทน เพื่อที่จะสามารถมุ่งเน้นในการพัฒนาธุรกิจหลักของตนให้ได้มากที่สุด
การปรับเปลี่ยนเชิงกลยุทธ์นี้ถือเป็นการดำเนินการที่สำคัญ โดยบริษัทประกันภัยตระหนักดีถึงความจำเป็นในการสร้างการเปลี่ยนผ่าน (transition) ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การปรับเปลี่ยนนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวและเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ โดยที่บริษัทมุ่งเน้นไปที่กิจกรรมที่สร้างมูลค่า นอกจากนี้การติดตั้งเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัยจะช่วยให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจได้ดีขึ้นและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งไม่เพียงแค่ช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (IFRS 17) ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทประกันภัยสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบที่สำคัญทางธุรกิจ เช่น COVID-19 และรับมือกับความต้องการของตลาดในอนาคต อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกรอบการจัดการข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม การสร้างกรอบการจัดการข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่บริษัทประกันภัยควรให้ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้
ข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งขององค์กร แต่เนื่องจากความหลากหลายทางเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มและ แอปพลิเคชัน ที่บริษัทนำมาใช้ในการจัดการข้อมูล จึงทำให้การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นเรื่องยาก และถึงแม้ว่าความแตกต่างหลากหลายของระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถสร้างข้อมูลจำนวนมาก แต่ข้อมูลที่ได้กลับไม่มีความเชื่อมโยงกันและมีการจำกัดการเข้าถึง ความท้าทายดังกล่าวจึงทำให้กลยุทธ์การนำระบบคลาวด์หรือมัลติคลาวด์ (Multi-Cloud) มาใช้ เช่น การย้ายข้อมูลขององค์กรทั้งหมดไปยัง 'data lake' บนระบบคลาวด์หรือระบบคลังข้อมูล (repository) ของบริษัท เป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จ
เพื่อเอาชนะความท้าทายข้างต้น องค์กรจำเป็นต้องสร้างกรอบการจัดการข้อมูลที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการรวบรวม จัดเก็บ แปลง กระจาย และบริโภคข้อมูล เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติทั่วทั้งองค์กร การจัดการข้อมูลโดยคำนึงถึงความสอดคล้องของข้อมูลจะช่วยให้บริษัทเข้าถึงและใช้ข้อมูลในการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อหาข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจได้ โดยกรอบการจัดการข้อมูลดังกล่าวควรประกอบไปด้วยกฎระเบียบที่กำหนดรูปแบบข้อมูลที่มีโครงสร้าง (structured data formats) เช่น ฐานข้อมูล และรูปแบบข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (unstructured data formats) และกึ่งโครงสร้าง (semi-structured data formats) นอกจากนี้ กรอบการจัดการข้อมูลควรอธิบายว่าข้อมูลมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการทางธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้งานได้ (actionable information)
ข้อกำหนดใน IFRS 17 และประโยชน์ของการย้ายข้อมูลองค์กรไปยังระบบคลาวด์เป็นที่รู้จักกันอย่างดีตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการใช้งานเหล่านี้เป็นความจำเป็นต่อธุรกิจอย่างเร่งด่วนมากกว่าที่เคยเป็นมา หากบริษัทประกันภัยสามารถจัดทำกรอบการจัดการข้อมูลเชิงรุก (proactive) และแบบองค์รวม (holistic) รวมถึง กลยุทธ์คลาวด์ ให้สามารถใช้งานได้ในองค์กร บริษัทจะสามารถสร้างการเปลี่ยนผ่านได้อย่างประสบความสำเร็จในช่วงเวลาที่เหมาะสมและเกิดการหยุดชะงักน้อยที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทางธุรกิจที่สำคัญ